หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Proton pump inhibitors อาจเป็นสาเหตุการติดเชื้อรุนแรงในเด็ก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,510 ครั้ง
 
Proton pump inhibitors (PPIs) เช่น omeprazole, esomeprazole และ rabeprazole เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยการยับยั้งเอนไซม์ hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (H+/K+ ATPase)1 และเป็นยาหลักในการรักษา gastroesophageal reflux disease (GERD) ในปัจจุบันมีการใช้ PPIs ในทารกมากขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็น GERD เพียงแต่ใช้ PPIs เพื่อความสบายใจของผู้ปกครองเมื่อเห็นทารกรู้สึกไม่สบายตัวเท่านั้น ซึ่งการใช้ PPIs โดยไม่มีข้อบ่งใช้และใช้เป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของทารกได้2,3

ข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาของ Lassalle M, Zureik M และ Dray-Spira R เป็นการศึกษาแบบ cohort ที่ศึกษาความเสี่ยงในการติดเชื้อรุนแรง (serious infections) ในเด็กเล็กจำนวน 1,262,424 คน ในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2019 โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ PPIs จำนวน 606,645 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 88 วัน และกลุ่มที่ไม่ใช้ PPIs จำนวน 655,779 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 82 วัน โดยผลลัพธ์ของการศึกษา คือ การเกิด serious infections ครั้งแรกที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่ง serious infection ประกอบด้วยการติดเชื้อบริเวณทางเดินอาหาร หู ตา คอ ทางเดินหายใจส่วนล่าง ไตหรือทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง ระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท จากการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ใช้ PPIs มีความเสี่ยงการเกิด serious infections มากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ PPIs 1.34 เท่า ในระยะเวลาเฉลี่ย 3.8 ปี ทั้งนี้การใช้ยาอื่น ๆ ในขวบปีแรก เช่น การใช้สเตียรอยด์ อีกทั้งระยะเวลาการหยุด PPIs ในการศึกษานี้โดยเฉลี่ยนานถึง 10 เดือน อาจส่งผลให้การเกิด serious infection เกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากการใช้ PPIs ได้2,4

ข้อมูลจากการศึกษานี้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการใช้ PPIs ตามข้อบ่งใช้ในการรักษาโรค เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อที่รุนแรง

เอกสารอ้างอิง

1. Shin JM, Sachs G. Pharmacology of proton pump inhibitors. Curr Gastroenterol Rep. 2008;10(6):528-534.

2. Lassalle M, Zureik M, Dray-Spira R. Proton Pump Inhibitor Use and Risk of Serious Infections in Young Children. JAMA Pediatr. 2023 Aug 14:e232900.

3. Targownik LE, Fisher DA, Saini SD. AGA Clinical Practice Update on De-Prescribing of Proton Pump Inhibitors: Expert Review. Gastroenterology. 2022; 162(4):1334-1342.

4. PPIs Linked to Long-Term Infection in Kids. Medscape Medical News. Medscape [internet]. 2023 [cited 30/08/2023]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/995938.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Proton pump inhibitors การติดเชื้อรุนแรงในเด็ก
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้