หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Aspirin/omeprazole (81/40 มิลลิกรัม และ 325/40 มิลลิกรัม)…ยาสูตรผสม

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มกราคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 8,859 ครั้ง
 
แอสไพริน (aspirin หรือ acetylsalicylic acid) เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ในขนาดต่ำออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) โดยเกิด acetylation ทำให้เอนไซม์ไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก จึงยับยั้งการสร้าง thromboxane ทำให้ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดตลอดช่วงอายุของเกล็ดเลือด (นานถึง 10 วัน) นำมาใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet agent) ช่วยลดอุบัติการณ์ของภาวะเฉียบพลันที่เกิดกับระบบไหลเวียนเลือดของหัวใจและสมอง การใช้แอสไพรินจะเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) แม้ใช้ในขนาดไม่มากนัก ส่วน omeprazole เป็นยาในกลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (H+/K+ ATPase หรือ gastric proton pump) จึงยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เป็นยาที่ใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรักษาโรคในทางอาหารที่สัมพันธ์กับกรด ได้แก่ gastric ulcer, duodenal ulcer, NSAID-associated ulcer, gastro-oesophageal reflux disease, Zollinger-Ellison syndrome และใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาการติดเชื้อ Helicobacter pylori

มีการผลิตยาสูตรผสมชนิดเม็ดที่มีแอสไพรินผสมกับ omeprazole ออกจำหน่าย 2 ความแรง (aspirin/omeprazole ความแรง 81/40 มิลลิกรัม และ 325/40 มิลลิกรัม) โดยทำเป็น multilayer film-coated, delayed release tablet ที่มีแกนในเป็นแอสไพรินในรูปที่ปลดปล่อยยาที่ลำไส้อย่างช้าๆ (enteric coated delayed-release aspirin) หุ้มด้วยชั้นของ omeprazole ที่ปลดปล่อยยาทันที (immediate-release omeprazole) สำหรับใช้เป็น secondary prevention ของภาวะเฉียบพลันในระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular event) และสมอง (cerebrovascular event) ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากแอสไพริน (aspirin-induced gastric ulcer) ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่มีประวัติโรคแผลในกระเพาะอาหาร รับประทานวันละ 1 เม็ด ก่อนอาหารไม่น้อยกว่า 60 นาที จะไม่ใช้ยานี้ในกรณีที่ต้องการแอสไพรินที่ออกฤทธิ์ทันที เช่น acute coronary syndrome, acute myocardial infarction, ก่อนทำ percutaneous coronary intervention (PCI) นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการนำยาสูตรผสมมาใช้ในรายที่ต้องการใช้ทั้งยาแอสไพรินและ omeprazole ดังนั้นยาสูตรผสมจึงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ยาแอสไพรินและ omeprazole

การที่ยาสูตรผสมนี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 ศึกษา (Study 1 และ Study 2) เป็นการศึกษาแบบ randomized, multi-center, double-blind trial เพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) เมื่อใช้ยาสูตรผสม (aspirin/omeprazole ความแรง 325/40 มิลลิกรัม) เทียบกับการใช้แอสไพริน (enteric coated aspirin) ศึกษาในผู้ที่มีอายุกว่า 55 ปีหรือผู้ที่มีประวัติโรคแผลในกระเพาะอาหาร และต้องการใช้แอสไพรินวันละ 325 มิลลิกรัมเพื่อต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทั้งสองการศึกษามีผู้ป่วยได้รับยาสูตรผสมรวม 524 คน และได้รับแอสไพรินรวม 525 คน ผลการศึกษารวมกันพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาสูตรผสมเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ในลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับแอสไพรินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่เวลา 6 เดือนมี cumulative incidence เท่ากับ 3% เทียบกับ 12% สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ของยาสูตรผสมที่อาจพบ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ คลื่นไส้ ท้องเดิน มีติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร (gastric polyps) เจ็บหน้าอกที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ (non-cardiac chest pain)

อ้างอิงจาก:

(1) Aspirin/omeprazole (81/40 mg; 325/40 mg). http://www.rxlist.com/yosprala-drug.htm; (2) Sharma T, Bliden K, Chaudhary R, Tantry U, Gurbel PA. Efficacy of aspirin (325 mg) + omeprazole (40 mg) in treating coronary artery disease. Expert Opin Pharmacother 2017;18:123-31; (3) Goldstein JL, Whellan DJ, Scheiman JM, Cryer BL, Eisen GM, Lanas A, Fort JG. Long-term safety of a coordinated delivery tablet of enteric-coated aspirin 325 mg and immediate-release omeprazole 40 mg for secondary cardiovascular disease prevention in patients at GI risk. Cardiovasc Ther 2016;34:59-66.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
แอสไพริน aspirin acetylsalicylic acid ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ nonsteroidal anti-inflammatory drug NSAID cyclooxygenase-1 COX-1 acetylation thromboxane การเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด antiplatelet agent myocardia
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้