หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Etelcalcetide…calcium-sensing receptor agonist สำหรับรักษาภาวะ secondary hyperparathyroidism

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 7,876 ครั้ง
 
Hyperparathyroidism เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์หลั่ง parathyroid hormone (PTH) มากเกิน ทำให้มีระดับ PTH ในเลือดสูง แบ่งออกเป็น primary hyperparathyroidism เกิดจากความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์โดยมีการทำงานมากขึ้นทำให้หลั่ง PTH มากขึ้น secondary hyperparathyroidism เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำที่ส่งผลกระตุ้นการหลั่ง PTH ซึ่งการมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำอาจเนื่องจากมีการดูดซึมจากทางเดินอาหารน้อยหรือมีภาวะไตวายเรื้อรัง และ tertiary hyperparathyroidism เกิดในผู้ป่วย secondary hyperparathyroidism ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือในผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนถ่ายไตมาแล้วแต่ยังคงมีระดับ PTH ในเลือดสูง ซึ่งการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์จะไม่ขึ้นกับระดับแคลเซียมในเลือด ต่อมยังคงทำงานมากและหลั่ง PTH มาก

ตัวรับชนิด calcium-sensing receptor อยู่บน chief cell ของต่อมพาราไทรอยด์ ระดับแคลเซียม (แคลเซียมอิออน) ในเลือดที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นตัวรับนี้และทำให้ลดการหลั่ง PTH สู่กระแสเลือด เป็นการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแบบ negative feedback ดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับนี้ (calcium-sensing receptor agonists) เช่น ยาที่ออกฤทธิ์เลียนแบบแคลเซียมที่เนื้อเยื่อ (calcimimetics) ตัวอย่างได้แก่ cinacalcet, etelcalcetide จึงมีฤทธิ์ลดการหลั่ง PTH ได้ ซึ่ง etelcalcetide (ชื่อเดิมคือ velcalcetide) เป็นยาใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะ secondary hyperparathyroidism ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำ hemodialysis ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ก่อนให้ยาต้องมั่นใจว่าระดับแคลเซียม (ค่า corrected serum calcium) ไม่ต่ำกว่าค่าล่างของค่าปกติ เริ่มให้ขนาด 5 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียว (IV bolus injection) ภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis ฉีดยาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนขนาดยาที่ใช้เป็น maintenance dose ในผู้ป่วยแต่ละรายให้ปรับจนระดับ PTH อยู่ช่วงที่ต้องการและระดับแคลเซียมอยู่ในช่วงปกติ ขนาดยาต่ำสุดที่เป็น maintenance dose คือ 2.5 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และขนาดยาสูงสุดที่เป็น maintenance dose คือ 15 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยทุกครั้งจะฉีดภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis

การที่ etelcalcetide ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษาที่เป็น randomized, double-blind, placebo-controlled trials ศึกษานาน 26 สัปดาห์ ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็น secondary hyperparathyroidism ระดับปานกลางถึงรุนแรง (PTH สูงกว่า 400 พิโกกรัม (pg)/มิลลิลิตร) และได้รับการทำ hemodialysis จำนวน 1,023 คน ให้ยาหรือยาหลอก ขนาดยาเริ่มด้วย 5 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียวภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผู้ป่วยทุกรายได้รับการปฏิบัติแบบมาตรฐานซึ่งรวมถึงการได้รับวิตามินดีและ/หรือ phosphate binder ปรับขนาดยาทุก 4 สัปดาห์จนถึงขนาดสูงสุดในสัปดาห์ที่ 17 คือ 15 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอกพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มี PTH ในเลือดลดลงถึงระดับที่ต้องการในกลุ่มที่ได้รับ etelcalcetide มีจำนวนที่มากกว่า อีกทั้งยาสามารถลดระดับ PTH แคลเซียม และฟอสเฟตลงต่ำกว่าระดับเริ่มต้น (baseline) ได้มากกว่ายาหลอกในทั้งสองการศึกษา อาการไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจพบ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia)

อ้างอิงจาก:

(1) Shigematsu T, Fukagawa M, Yokoyama K, Akiba T, Fujii A, Odani M, et al. Long-term effects of etelcalcetide as intravenous calcimimetic therapy in hemodialysis patients with secondary hyperparathyroidism. Clin Exp Nephrol 2017. doi: 10.1007/s10157-017-1442-5; (2) Etelcalcetide. https://www.rxlist.com/parsabiv-drug.htm; (3) Hamano N, Komaba H, Fukagawa M. Etelcalcetide for the treatment of secondary hyperparathyroidism. Expert Opin Pharmacother 2017;18:529-34.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
etelcalcetide calcium-sensing receptor agonist secondary hyperparathyroidism parathyroid hormone PTH primary hyperparathyroidism ต่อมพาราไทรอยด์ เนื้องอก แคลเซียมสูง ฟอสเฟตต่ำ วิตามินดี แคลเซียมในเลือดต่ำ โรคไตเรื้อรัง tertiary hyperpara
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้