หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นคนท้องผูกมาก (เป็นคนธาตุแข็งมาตั้งแต่เด็กๆ)ในแต่ละวันพยายามทานผักผลไม้และโยเกิร์ตแล้วแต่ก็ไม่ดีขึ้น เพราะพฤติกรรมที่เร่งรีบในชีวิตประจำวัน ลองกินอาหารเสริมประเภทไฟเบอร์แบบชงก็ถ่ายได้ แต่พอหยุดกินก็เหมือนเดิม อยากถามว่า โปรไบโอติกแบบซองเช่นแลคโตมินพลัสของไบโอโกรว์ , PROBAC7หรือ TS6ที่บอกว่าใช้ตามโรงพยาบาลจะช่วยได้ไหม และถ้าทานเยอะหรือบ่อยๆ จะเป็นอันตรายหรือไป

ถามโดย น้อง เผยแพร่ตั้งแต่ 02/10/2013-12:29:22 -- 10,455 views
 

คำตอบ

จากข้อมูลพบว่า Lactomin plus, Probac 7 และ TS6 เป็นชื่อการค้าของ Probiotics ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกนำมาเตรียมในรูปแบบอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Lactomin plus โฆษณาว่าประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium longum ส่วน Probac 7 และ TS 6 โฆษณาว่าประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus, Lactobacillus casei, Bifidobacterium bifidum, Bifidobacterium longum, Bifidobacterium infantis และ Streptococcus lactis ผลของ probiotics ต่อภาวะท้องผูกยังไม่มีการศึกษามากนัก และผลการศึกษาก็ยังคงขัดแย้งกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2012 องค์กร Association Italian Gastroenterology ได้แนะนำว่า probiotics ที่ประกอบด้วยแบคทีเรียสายพันธุ์ Bifidobacterium และ Lactobacillus อาจมีผลต่อการลดภาวะท้องผูก โดยมีระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานสนับสนุน (Level of evidence) อยู่ระดับ V ซึ่งระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานสนับสนุนแบ่งออกเป็น I, II, III, IV และ V ระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานในดับ I ถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด มีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมและมีการควบคุมระเบียบวิจัยที่เหมาะสม (Randomised clinical trials and appropriate methodology) และระดับ V มีความน่าเชื่อถือต่ำสุด เป็นเพียงรายงานจากผู้ป่วยและไม่มีกลุ่มควบคุม (case series) ส่วนระดับการสนับสนุนแนะนำการใช้ probiotics ในภาวะท้องผูกเรื้อรัง (Grade of recommendation) เป็นระดับ C ซึ่งระดับของการสนับสนุนแบ่งออกเป็นระดับ A, B และ C โดยระดับ A มีน้ำหนักในการแนะนำสูงกว่า B และ C และระดับ C มีน้ำหนักในการสนับสนุนการใช้ต่ำสุดเนื่องจากมาจากผลการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ จากข้อมูลพบว่าการใช้ probiotics ในการรักษาภาวะท้องผูก ยังขาดหลักฐานการวิจัยเชิงทดลองที่มีคุณภาพสนับสนุน ระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานสนับสนุนที่มีอยู่ในขณะนี้อยู่ในระดับ V และระดับของการสนับสนุนแนะนำการใช้ probiotics กับภาวะท้องผูกเรื้อรังเป็นระดับ C ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่าอาจเลือกใช้ probiotics เป็นเพียงตัวเสริมกับยาหลักที่ใช้รักษาภาวะท้องผูก Key words: probiotics, bacteria, constipation, โปรไบโอติก ท้องผูก

Reference:
1. Bove A, Pucciani F, Bellini M, Battaglia E, Bocchini R, Altomare DF, et al. Consensus statement AIGO/SICCR: Diagnosis and treatment of chronic constipation and obstructed defecation (part I : Diagnosis). World J Gastroenterol 2012; 18(14): 1555-64.
2. Bove A, Bellini M, Battaglia E, Bocchini R, Gambaccini D, Bove V, et al. Consensus statement AIGO/SICCR diagnosis and treatment of chronic constipation and obstructed defecation (Part II: Treatment). World J Gastroenterol 2012; 18(35): 4994-5013.

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้