เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลิตภัณฑ์เสริมแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็น (Essential Trace Elements Products)


รองศาสตราจารย์ ดร. พิสมัย กุลกาญจนาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 44,092 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/07/2555
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y9oeefrp
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y9oeefrp
 
แน่ใจหรือว่าต้องใช้...ใช้แล้วได้ผลคุ้มค่า แน่หรือ
แร่ธาตุพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ มีบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต มีฤทธิ์ทั้งส่งเสริมและยับยั้งการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ทำให้เกิดสภาวะปกติหรือเกิดโรค จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของคน โดยปกติมักพบแร่ธาตุในอาหารซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต แร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็น (Essential Trace Elements) หมายถึงแร่ธาตุที่มีอยู่น้อยในร่างกายแต่จำเป็นต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย อาการของโรคที่เกิดจากการขาดแร่ธาตุเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน เพราะมักเกิดร่วมกับภาวะทุโภชนา
ร่างกายของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยชีวโมเลกุลมากมาย ซึ่งจะร่วมกันแสดงเป็นโครงร่างและภาวะทางชีววิทยาของร่างกาย ในการเกิดภาวะชีววิทยาปกติจำเป็นต้องมีแร่ธาตุเข้าร่วมด้วย โดยแร่ธาตุเหล่านี้จะจับกับชีวโมเลกุลเพื่อให้เกิดรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมก่อนจะทำงานในระบบชีววิทยาในร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับความสมดุลของอิเล็กโตรไลท์ ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก ได้แก่ โซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียม คลอไรด์ ฟอสเฟต อีกกลุ่มคือแร่ธาตุที่มีความจำเป็นแต่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยหรือเรียกว่า “แร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็น (Essential Trace Elements)” แร่ธาตุเหล่านี้มีความจำเป็นในการทำงานของอวัยวะต่างๆ การได้รับมากหรือน้อยเกินไปจะทำให้ภาวะชีววิทยาของร่างกายผิดปกติ แร่ธาตุเหล่านี้ได้แก่ ซิลิคอน เหล็ก ฟลูออรีน สังกะสี ทองแดง ดีบุก วานาเดียม แมนกานีส ไอโอดีน นิเกิล โมลิบดินัม โครเมียม โคบอลท์ และซิลิเนียม นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติทางเคมีกายภาพคล้ายแร่ธาตุจำเป็น จะแย่งกับแร่ธาตุจำเป็นในการจับกับสารชีวโมเลกุลในระบบชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต และยับยั้งการทำงานของชีวโมเลกุลนั้น เกิดความผิดปกติและเกิดอาการพิษ แร่ธาตุกลุ่มนี้เป็นแร่ธาตุที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและอาหารได้แก่ แคดเมียม เงิน ตะกั่ว แบเรียม ปรอท พลวง สารหนู และอะลูมิเนียม คนจึงหลีกเลี่ยงการรับแร่ธาตุเป็นพิษเข้าร่างกายได้ยาก
โดยปกติแร่ธาตุจำเป็นจะพบในอาหารทั่วไป (ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก และเมล็ดธัญพืชต่างๆ เป็นต้น) จึงไม่พบการขาดแร่ธาตุจำเป็นในคนทั่วไป และอาการขาดแร่ธาตุก็ไม่ชัดเจนเพราะมักเกิดร่วมกับภาวะทุโภชนา แต่มีการขาดแร่ธาตุจำเป็นที่ทำให้เกิดโรคที่ตรวจวินิจฉัยได้ เช่น กลุ่มแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นที่มีความสำคัญในระบบโลหิต ถ้าขาดจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง การรักษาทำได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์เหล็ก และอาจใช้ทองแดงเป็นตัวเสริมการเคลื่อนย้ายเหล็กจากทางเดินอาหารและเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีการให้แอสคอบิกเอซิกร่วมกับเหล็กเพื่อเพิ่มการดูดซึม และยังมีการใช้โคบอลท์ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวิตามินไซยาโนโคบาลามีน โมลิบเดนัมและวานาเดียม ร่วมกับผลิตภัณฑ์เหล็ก กลุ่มแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ การสร้างพลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย ต้องใช้กระบวนการทำงานในระบบชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ ซึ่งต้องจับกับแร่ธาตุจำเป็นเพื่อให้ได้รูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมจึงจะทำงานและทำให้ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ แร่ธาตุจำเป็นเหล่านี้ได้แก่ สังกะสี แมนกานีส โครเมียม นิเกิล ดีบุก ซิลิเนียม กระดูกและฟันเป็นโครงสร้างของร่างกาย มีส่วนประกอบสำคัญเป็นแคลเซียมและซิลิกอน ซึ่งฟลูออรีนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างกระดูกและฟัน โดยน่าจะเกี่ยวข้องกับแคลเซียมเมธาโบริซึม
ในทางการแพทย์จัดแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นเป็นสารอาหารอนินทรีย์ที่คนต้องการในขนาดน้อยเป็นจำนวนไมโครกรัมถึงมิลลิกรัมต่อวัน แร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นที่อยู่ในสารอาหารจะอยู่ในรูปสารประกอบเชิงซ้อนที่ดูดซึมได้ แร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นในรูปอิสระหรือในรูปเกลือของมันที่ไม่ได้อยู่ในอาหารจะดูดซึมได้ยากจึงเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก และระคายเคืองทางเดินอาหาร ตารางที่ 1 แสดงธาตุพบน้อยจำเป็นและปริมาณที่พบในร่างกายคนปกติ พร้อมปริมาณที่พบในอาหารทั่วไปโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน แร่ธาตุพบน้อยจำเป็นถูกขับออกน้อยและได้รับจากอาหารทั่วไปทุกวัน คนปกติจึงไม่ขาดแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็น การขาดแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นมักพบร่วมกับภาวะทุโภชนา นั่นหมายความว่าการปรับภาวะโภชนาการที่เหมาะสมจะทำให้ได้รับแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นได้เพียงพอด้วย

การตัดสินใจที่จะรับประทานแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็นเพิ่มเติมในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงต้องพิจารณาถึงความต้องการของร่างกาย การดูดซึมและการระคายเคืองของผลิตภัณฑ์ และควรมีการประเมินให้แน่ใจถึงสภาวะการขาดแร่ธาตุพบน้อยจำเป็นจริง
ที่สำคัญควรระลึกไว้เสมอว่าการปรับภาวะโภชนาการที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนและการเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมบ้างตามความเหมาะสม จะทำให้ร่างกายมีสภาพปกติตามวัย และมีสุขภาพที่สมบูรณ์

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


9 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้