เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง


รองศาสตราจารย์ ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 290,882 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/02/2556
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yada42m3
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yada42m3
 
การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันตก มี ๒ วิธีหลักที่ปฏิบัติกันแพร่หลายคือการใช้รังสี และการใช้เคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธี ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือทำลายเนื้อร้าย แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเนื้อร้ายได้ เซลล์ดีจำนวนมากต้องถูกทำลายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วเช่น เซลล์ผม เซลล์ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก จึงเกิดผลข้างเคียงตามมาเช่น ผมร่วง แผลในปาก ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จากการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง โดยเหตุนี้จึงมีผู้ป่วยตายด้วยโรคมะเร็งปีละ ๕๐,๐๐๐ คน นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรเนื่องจากเคมีบำบัดล้วนเป็นยานำเข้าทั้งสิ้น ยังไม่นับถึงค่าใช้จ่ายในส่วนบุคลากรที่ต้องใช้เวลาในการอภิบาลผู้ป่วยเหล่านี้เป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตบุคคลเหล่านั้นได้
มะเร็งนับเป็นโรคที่ร้ายแรงและคร่าชีวิตผู้คนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 21 นับเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตในอเมริกา (ร้อยละ 25) ปัจจุบันมีผู้แสวงหาแนวทางอื่นในการรักษามากขึ้น เช่นจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดียที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ในตำราอายุรเวทได้มีการกล่าวถึงมะเร็งว่าเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการอักเสบหรือไม่อักเสบก็ได้ อาจเกิดจากความไม่สมดุลย์ของระบบ วาตะ (ระบบประสาท) ปิตตะ (ระบบโลหิตดำ) หรือเสมหะ (ระบบโลหิตแดง) หนึ่งหรือ สองระบบ เป็น benign neoplasm แต่ถ้าเกิดจากความผิดปกติของทั้งสามระบบจะกลายเป็น malignant tumour หรือเนื้อร้ายนั่นเอง
สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นตำราอายุรเวทได้กล่าวถึงการบาดเจ็บของผิวชั้นที่หกที่เรียกว่า โรหิณี (epithelium) ของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตที่ผิดพลาด การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ สุขอนามัยที่ไม่ดี และ พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอันก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ของระบบในร่างกาย (dosha) นำไปสู่การเกิดเนื้องอก ในแต่ละคนเกิดมะเร็งแตกต่างกันไปแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยงและพันธุกรรมซี่งทำให้แต่ละคนมีการตอบสนองต่ออาหารชนิดเดียวกันได้ต่างกัน (ขึ้นอยู่กับ dosha ของแต่ละคน) ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของระบบในร่างกายได้แก่
  1. สิ่งกระตุ้นระบบวาตะ การกินรสขม รสเผ็ด หรือรสฝาดมากเกินไป อาหารแห้ง หรืออยู่ในสภาวะเครียดมากไป
  2. สิ่งกระตุ้นระบบปิตตะ การกินรสเปรี้ยว รสเค็มมากเกินไป อาหารทอด หรืออยู่ในสภาวะโกรธมากไป
  3. สิ่งกระตุ้นระบบเสมหะ การกินรสหวานมากเกินไป อาหารมัน หรือชอบอยู่นิ่งๆเกินไป
  4. สิ่งกระตุ้นระบบเลือด (rakta) กินอาหารที่เป็นกรดหรือเป็นด่างมากเกินไป อาหารทอดหรือย่าง เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อารมณ์โกรธหรือโศกเศร้ามากไป การตากแดดจัดหรือทำงานภายใต้ความร้อนนานไป
  5. สิ่งกระตุ้นระบบกล้ามเนื้อ (mamsa) การกินอาหารจำพวกเนื้อ ปลา โยเกิต นมและครีมมากไป การนอนกลางวัน และการกินมากเกินไป
  6. สิ่งกระตุ้นระบบไขมัน (medo) การกินอาหารประเภทน้ำมัน อาหารหวาน แอลกอฮอลล์และความขี้เกียจ

หลักของการรักษามี 4 อย่างคือ บำรุงสุขภาพ (health maintenance) รักษาโรค (disease cure) การคืนสู่สภาพปกติ (Rasayana /restoration of normal function) จิตวิญญาณ (spiritual approach) หลักที่สำคัญคือต้องหาสาเหตุของการเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการขาดความสมดุลย์และแก้ไขส่วนขาดและลดส่วนเกิน โดยทั่วไปจะเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรหลายๆ ชนิด ซึ่งจะเข้าไปช่วยระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายพร้อมๆ กันและบำรุงร่างกายไปด้วย สมุนไพรสามารถออกฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ 1) ระงับการสร้างเส้นเลือดใหม่ (antiangiogenesis) 2) ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง (antiproliferative) 3) ระงับการอักเสบ 4) ซ่อมแซม DNA 5) ต้านการอ็อกซิไดส์ กำจัดอนุมูลอิสระ 6) ยับยั้งจุลชีพ เป็นต้น สมุนไพรต่อไปนี้ล้วนมีผลการทดสอบที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษามะเร็ง
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) ในอินเดียใช้กันมานานรักษาไทฟอยด์ แก้อักเสบ แก้มาเลเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารสำคัญคือ andrographolide สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด
มะตูม (Aegle marmelos) สารจากผลมะตูมสามารถยับยั้ง thyroid cancer และมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส และต้านการอักเสบ
บัวบก (Centella asiatica) มีสาร asiaticoside ที่ช่วยให้แผลเรื้อรังหายได้เร็วขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกัน และในบราซิลมีการใช้เพื่อรักษามะเร็งมดลูก
ขมิ้น (Curcuma longa) สารสำคัญคือ curcumin มีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์และต้านการอักเสบที่แรง สามารถทำให้เกิดการตายของเซลมะเร็งหลายชนิดเช่น ผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ กระเพาะ ลำไส้เล็ก รังไข่ และยังมีฤทธิ์ต้านไวรัส แบคทีเรียและราอีกด้วย
หญ้างวงช้างดอกขาว (Heliotropium indicum) อายุรเวทใช้ใบในการรักษาไข้ ลมพิษ แผล การอักเสบเฉพาะที่ กลาก ปวดข้อ (rheumatism) มีอัลคาลอยด์ Indicine-N-oxide ที่มีฤทธิยับยั้งเนื้องอก มีการทดลองทางคลีนิคในลิวคีเมีย และ solid tumour
ว่านหางจรเข้ (Aloe vera) มีสาร aloe-emodin ที่กระตุ้น macrophage ให้กำจัดเซล์ลมะเร็ง และยังมี acemannan ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ว่านหางจรเข้ช่วยกระตุ้นการเจริญของเซลล์ปกติและยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
Rubia cordifolia พืชตระกูลเดียวกับกาแฟมีมากในอินเดียตอนใต้ สารสกัดจากพืชนี้มีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านมะเร็งหลายชนิดเช่น leukemia, ascetic carcinoma, melanoma, lung and large intestinal tumour เป็นต้น
Whitania somnifera หรือ Indian ginseng เป็น adaptogen ที่ช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยผ่าน Hypothalamic Pituitary Adrenal (HPA) axis มีสารสำคัญคือ whithanolide ซึ่งมีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทาน และสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งผิวหนัง
กะเพรา (Ocimum sanctum) เป็นสมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์โบราณหลายระบบ เช่นอายุรเวท สิธธา ยูนานนิ กรีก โรมันเป็นต้น ใช้ในระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ หัวใจ ผิวหนัง ฯลฯ
ทุเรียนเทศ (Anona muricata) สาร acetogenin จากผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้
ลูกใต้ใบ/หญ้าใต้ใบ (Phyllanthus niruri/amarus) เป็นที่รู้จักว่าเป็น stonebreaker และมีการใช้แพร่หลายทั่วโลก ในระบบปัสสาวะและน้ำดี ตับอักเสบ หวัด วัณโรค และโรคจากไวรัสอื่นๆ
ดีปลี (Piper longum) มี piperine ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์ทั้ง in vitro และ in vivo จึงเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษามะเร็งของอายุรเวท
Podophyllum hexandrum เป็นพืชบนเทือกเขาหิมาลัย มีสาร podophyllin และ podophyllotoxin ซึ่งยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น sarcomas,adenocarcinoma และ melanoma มีการเตรียมอนุพันธ์และใช้เป็นยารักษามะเร็งตับคือ etoposide
บอระเพ็ด (Tinospora cordifolia) สารสำคัญจากบอระเพ็ดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว และสามารถลดขนาดเนื้องอกได้ 58.8% เทียบเท่า cyclophosphamide
รักขน (Semecarpus anacardium) ผลของรักขนมีการใช้ในอายุรเวทเพื่อรักษามะเร็ง มีงานวิจัยแสดงว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและยืดอายุในกรณี leukemia, melanoma และ glioma ในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับสารสกัดจากรักขนทำให้เนื้อเยื่อตับเป็นปกติ ยาเตรียม anacartin forte นิยมใช้รักษามะเร็งหลอดอาหาร chronic myeloid leukemia, urinary bladder และมะเร็งตับ
ยังมีสมุนไพรอีกมากที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงหรือช่วยระงับอาการข้างเคียงต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งซึ่งรอผลการสนับสนุนจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กาแฟ…ระวังในโรคใด? 14 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้