เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฟักข้าว


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 128,220 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/09/2557
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yb4lnxra
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yb4lnxra
 
หากพวกเราเดินในงานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้าน OTOP (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) คงจะแปลกใจที่มีผลิตภัณฑ์ด้าน OTOP ที่มีการแปรรูปจากฟักข้าวมากมายออกมาจำหน่าย จากหลากหลายบริษัทเอกชนและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ สบู่ แชมพู ครีมทาหน้า ลิปสติก น้ำดื่มสมุนไพร แยม แคปซูลผลฟักข้าว และอื่นๆ อีกมากมายที่จะออกมา จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีพืชสมุนไพรชนิดใดที่ถูกออกมาแปรรูปมากเท่าฟักข้าว เหตุใดฟักข้าวจึงได้รับความนิยมมากเช่นนี้ คงจะต้องมาทำความรู้จักฟักข้าวกันก่อน

ฟักข้าว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า (Momorodica cochinchinensis) เป็นพันธุ์ไม้เก่าแก่ของเอเชีย แต่พบมากในเอเชียตอนใต้ โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟักข้าวเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล (Cucurbitaceae) และอยู่ใน Genus เดียวกับมะระ ซึ่งถ้าดูจากภายนอกจะไม่เชื่อว่าจะมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมะระ แต่ถ้าหากมาลวกจิ้มน้ำพริกกินแบบคนโบราณจะรู้ว่า รสชาติใกล้เคียงกันมาก
ฟักข้าวมีชื่อเรียกตามท้องถิ่น เช่น ฝักข้าว (ภาคเหนือ) มะข้าว (แพร่) ขี้พร้าไฟ (ภาคใต้) ขี้กาเครือ (ปัตตานี) แก็ก (Gag ในภาษาเวียดนาม), Baby Jackfruit, Spiny Bitter Gourd, Sweet Ground และ Cochinchin Goud
ฟักข้าวแม้จะเป็นไม้เถาเลื้อย เช่น พืชตระกูลแตงทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่ ชอบพันต้นไม้ใหญ่ และมีอายุยืนยาวได้ถึง 50 ปี ฟักข้าวออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และสามารถเก็บผลได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
สรรพคุณทางยาไทยของฟักข้าว
ฟักข้าวได้ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของยามาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นยาพื้นบ้านในตำหรับยาจีนหรือยาไทย
  1. ใบฟักข้าว ใช้ปรุงเป็นยาเขียว ใช้ถอนพิษ ดับพิษทุกชนิด ตำพอกแก้ปวดหลัง
  2. เมล็ดฟักข้าว ใช้บำรุงปอด แก้ท่อน้ำดีอุดตัน และแก้วัณโรค
  3. รากฟักข้าว ใช้ต้มน้ำดื่มหรือตากแห้ง บดเป็นผงแล้วปั้นรับประทาน จะช่วยขับเสมหะ ดับพิษไข้หรือใช้รากแช่น้ำแก้ผมร่วงและรักษาเหา
ปัจจุบันคณะวิจัยของผู้เขียนได้วิจัยพบว่าเมล็ดของฟักข้าวประกอบด้วยโปรตีนหลายชนิดและมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ในส่วนของผู้วิจัยเองพบว่าโปรตีนจากเมล็ดของฟักข้าวซึ่งได้แก่ cochinin A และ cochinin B มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างโปรตีนภายในเซลล์โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง โปรตีนในเมล็ดฟักข้าวมีคุณสมบัติที่เรียกว่ายับยั้งการทำงานของไรโบโซม (Ribosome-inactivating proteins) ทำให้ไม่เกิดการสังเคราะห์ของโปรตีนภายในเซลล์ ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ผู้วิจัยได้ทำการจดสิทธิบัตรของโปรตีนในเมล็ดฟักข้าวไว้แล้ว และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารในระดับนานาชาติ
ผลของฟักข้าวรวมถึงเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดที่มีสีแดงสดมีคุณค่าทางโภชนาสูงผลฟักข้าวประกอบด้วย สารเบตาแคโรทีนสูงมาก มากกว่าแครอทถึง 10 เท่า นอกจากนี้ผลของฟักข้าวยังอุดมไปด้วยสารไลโคปีน และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มีการสกัดเอาสารสำคัญเหล่านี้เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำเครื่องสำอางสำหรับใช้บนใบหน้า เพื่อชะลอความเหี่ยวย่นบนใบหน้า เนื่องจากสารสำคัญเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง
มีการใช้ประโยชน์ด้านคุณค่าทางโภชนาการของผลฟักข้าวในหลายประเทศในเอเชีย ที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคนเวียดนามได้ใช้ฟักข้าวเป็นองค์ประกอบในอาหารพื้นบ้านหลายชนิด เนื่องจากสีแดงที่สดใสของฟักข้าวและคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้นักวิจัยชาวเวียดนามได้ผสมเนื้อฟักข้าวลงในข้าวเพื่อให้เด็กนักเรียนชนบทที่ขาดวิตามินเอได้ทาน ผลการวิจัยพบว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้หายจากอาการขาดวิตามินเออย่างน่าพึงพอใจ

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ ฟักข้าว พืชพื้นบ้านมากคุณค่า สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน 2556.
  2. Chuethong, J., Oda, K., Sakurai, H., Saiki, I., Leelamanit, W (2007). Cochinin B, a novel ribosome-inactivating protein from the seeds of Momordica cochinchinensis. Biol Pharm Bull 30(3):428-32.

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ฟักข้าว 1 วินาทีที่แล้ว
หญ้าปักกิ่ง 1 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 10 วินาทีที่แล้ว
มะตูมซาอุ ผักหลายชื่อ 20 วินาทีที่แล้ว
แป๊ะตำปึง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้