เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ลดความอ้วนด้วยยาชุด...อันตราย


นศภ. ศิรดา เด่นชูวงศ์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 27,502 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/10/2557
อ่านล่าสุด 32 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yccjnugg
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yccjnugg
 

ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งประเทศไทย โดยโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ดังนั้นโรคอ้วนจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ยารักษา และการผ่าตัด
ในปัจจุบันพบว่าการนำยาลดความอ้วนไปใช้ในทางที่ผิดมีมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อต่างๆ และการซื้อยาลดความอ้วนสามารถหาซื้อเองได้ง่าย โดยไม่ได้มีการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรที่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา โดยจากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติด พบว่ายาชุดลดความอ้วนมักจะประกอบไปด้วยยาหลายชนิดเพื่อช่วยเสริมผลในการลดน้ำหนัก ซึ่งจัดไว้เป็นชุดให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน โดยยาชุดลดความอ้วนจะประกอบไปด้วยยาประมาณ 1-7 รายการ ดังต่อไปนี้
  1. ยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนเตอมีน (Phentermine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแอมเฟตามีน โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร โดยผลข้างเคียงที่เกิดจากยากลุ่มนี้ เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจหมดสติหรือชักได้ เป็นต้น ซึ่งยาเฟนเตอมีนนี้มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอ้วนโดยตรงแต่ให้ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น เช่น ไม่ควรใช้เกิน 3-6 เดือน และหากรับประทานยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดยาได้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มมีความสุข และถ้าหากหยุดยาทันทีทันใด อาจเกิดภาวะถอนยาได้ อาการถอนยาดังกล่าวได้แก่ สับสน หวาดระแวง ประสาทหลอน เป็นต้น ยากลุ่มนี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  2. ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ซึ่งยามีผลเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็ว โดยยากลุ่มนี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่ลดลงที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่ปราศจากไขมัน (lean body mass) แทนที่จะเป็นไขมัน ซึ่งเป็นการทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น ทำให้ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  3. ยาขับปัสสาวะ มีผลขับปัสสาวะออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็วหลังใช้ยา แต่ยาขับปัสสาวะไม่มีผลในการลดแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ มีผลเพียงทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียสมดุลของเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายอาการผิดปกติต่อหัวใจ สมอง และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยยากลุ่มนี้ไม่ควรนำมาใช้ในการลดน้ำหนักอย่างยิ่ง
  4. ยาถ่ายหรือยาระบาย จะกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น เพื่อขับไล่อาหารออกจากทางเดินอาหารภายหลังการรับประทานยาเข้าไป ทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักลดลง แต่การใช้ยาระบายในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเดิน ร่างกายสูญเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เกิดอันตรายได้ และการใช้ยาระบายติดต่อกันนานๆ ส่งผลร่างกายเริ่มทนต่อยา คือ การใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่ให้ผลการรักษาลดลง หากต้องการผลการรักษาเท่าเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น ดังนั้นควรใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในการลดความอ้วน
  5. ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยานี้ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาลดความอยากอาหารที่มีผลทำให้ไม่หิว ดังนั้นร่างกายจึงไม่ได้รับอาหารหรืออาจได้รับอาหารเพียงเล็กน้อย ซึ่งการที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารแต่ยังมีกรดในกระเพาะอาหารหลั่งเพื่อย่อยอาหารอยู่ อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะได้ จึงให้ยานี้เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
  6. ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) ปกติจะใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ร่วมกับยาชุดลดความอ้วนนั้น เพื่อลดอาการใจสั่นที่เป็นผลข้างเคียงของยาลดความอยากอาหาร และไทรอยด์ฮอร์โมน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาลดอัตราการเต้นของหัวใจได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
  7. ยานอนหลับหรือยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ง่วงนอน เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากยาลดความอยากอาหารซึ่งกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งยาในกลุ่มยานอนหลับนี้ยังจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ นอกจากนี้หากรับประทานยากลุ่มนี้ในขนาดที่สูงเกินไป อาจมีผลทำให้เกิดการกดการหายใจและความดันโลหิตต่ำได้
จะเห็นได้ว่ายาชุดลดความอ้วนดังกล่าว ประกอบด้วยยาที่มีผลลดน้ำหนักโดยตรงและยาอื่นๆ ที่ไม่มีผลลดน้ำหนักโดยตรง แต่เป็นยารักษาโรคอื่นที่นำมาใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความอ้วน แต่กลับส่งผลให้ได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงมากมาย ดังนั้นการหาซื้อยาลดความอ้วนมาใช้เองโดยที่ไม่มีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจส่งผลเสียต่อร่างกายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ดีและปลอดภัย คือ การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย อีกทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมด้วย ซึ่งถึงแม้การใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นวิธีเห็นผลเร็ว น้ำหนักลดลงได้เร็วก็จริง แต่หากไม่ได้มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย เมื่อหยุดยาลดความอ้วนน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดิมได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้หากใช้ยาในขนาดที่สูงเกินไป ดังนั้นหากต้องการใช้ยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กองควบคุมวัตถุเสพติด. โรคอ้วนและปัญหาการใช้ยาลดความอ้วนในประเทศไทย. [Online]. [cited 2014 Jul 12]. Available from: URL: http://www.fda.moph.go.th/
  2. สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. นครปฐม: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2553.
  3. Anti-obesity drugs Guidance on appropriate prescribing and management. London, Royal College of Physicians, 2003.
  4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อันตรายจากยาชุดลดความอ้วน. [Online]. [cited 2014 Jul 21]. Available from: URL: http://www.oryor.com/

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


Long COVID-19 48 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้