เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กล้วย...ไม่ได้ใช้ทำกระทงได้อย่างเดียวนะ


กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 35,547 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/11/2557
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/yb9c7bwe
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yb9c7bwe
 


วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง...

แหม...ได้ยินเพลงนี้เมื่อไหร่เป็นต้องยกมือขึ้นตั้งวงทันที... ค่ะ เพลงนี้คือเพลงประจำเทศกาลลอยกระทงของเราชาวไทยนั่นเอง เมื่อพูดถึงเทศกาลลอยกระทง ก็ต้องนึกถึงกระทงใช่ม้าาา...และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการนำวัสดุต่างๆ มาทำกระทงเพื่อลดการใช้กระดาษและโฟม เช่น กะลามะพร้าว ก้านโสน ขนมปัง หรือแม้แต่กระทงน้ำแข็ง แต่วัสดุยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นใบตองหรือก็คือใบกล้วยนั่นเอง วันนี้เราเลยจะมาบอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับกล้วยซึ่งเป็นของที่อยู่คู่คนไทยมาเป็นเวลานานให้ทุกท่านรับทราบกันค่ะ
ตามตำรายาไทยเราสามารถนำกล้วยมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบใช้ห่อของ ทำกระทง และทำภาชนะ (แบบชั่วคราว) กาบหรือลำต้นเทียมใช้ทำกระดาษและเชือกมัดของ หยวก ปลี และผลใช้เป็นอาหารและทำขนม สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า รากกล้วย แก้ขัดเบา แก้ไข้ ขับน้ำเหลือง แก้ท้องเสีย ลำต้น ใบ และยางจากใบ ใช้ห้ามเลือด สมานแผล ใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ ใช้ประคบรักษาอาการอักเสบและพุพองของผิวหนัง ลำต้น แก้ท้องเสีย แก้ผื่นคัน น้ำจากลำต้น ใช้รักษาโรคหนองใน ผลดิบ ใช้บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องขึ้น รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องเสีย ผลสุก ใช้เป็นยาระบาย เปลือกกล้วย แก้ริดสีดวง นอกจากนี้กล้วยยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย โดยเฉพาะธาตุเหล็กและโพแทสเซียม ซึ่งธาตุเหล็กจะช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบินในเลือด และธาตุโพแทสเซียมสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่ากล้วย และสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกล้วยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด การศึกษาในสัตว์ทดลองจำนวนมากพบว่า กล้วยมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีแนวโน้มในการรักษาเบาหวานและช่วยลดน้ำตาลในเลือด มีฤทธิ์ลดไขมัน ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระและช่วยปกป้องผิว การศึกษาทางคลินิกหลายๆ การทดลองพบว่า กล้วย สารสกัดต่างๆ จากผลกล้วย สามารถบรรเทาอาการท้องเสียทั้งแบบที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อได้ โดยทำให้อาการปวดมวนท้องและถ่ายเหลวลดลง นอกจากนี้ยังลดการอักเสบและการเกิดแผลในลำไส้ใหญ่ด้วย และการศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองยังไม่พบความผิดปกติจากการให้สัตว์ทดลองกินผลดิบและผลสุก
ปัจจุบันกล้วยถูกจัดเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานและอยู่ในรายชื่อของยาที่พัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรง ไม่ติดเชื้อ โดยใช้กล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผล หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผล หรือบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน หรือรับประทานผงกล้วยปริมาณ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ หากรับประทานกล้วยแล้วมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ให้รับประทานร่วมกับน้ำขิง เพราะขิงมีฤทธิ์ขับลม ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามในกล้วยดิบมีสาร sitoindoside ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสเตียรอยด์ การใช้ในระยะยาวจึงต้องระมัดระวังเรื่องผลข้างเคียง เนื่องจากยังไม่มีผู้ศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารกลุ่มนี้ นอกจากนี้สารเอมีนที่พบในกล้วยอาจทำให้เกิดอาการไมเกรน ดังนั้นไม่ควรรับประทานกล้วยป่าดิบ ต้องทำให้สุกก่อน
อืม...กล้วยนี่มันมีประโยชน์มากมายจริงๆ เลยนะเนี้ย เอาล่ะ...ตอนนี้ก็ถึงเวลาของทุกท่านแล้วละค่ะ ว่าจะเลือกวัสดุชนิดใดมาทำกระทง ก็ตามสะดวกกันเลยค่ะ ซึ่งนอกจากความสนุกสนานที่ได้จากการลอยกระทงแล้ว ก็อยากให้ทุกๆ ท่านร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศและแม่น้ำลำคลองเพื่อให้สิ่งดีๆ ได้อยู่คู่กับลูกหลานของเราไปนานๆ ด้วยนะคะ


แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 5(3)
  2. จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 20(3)
  3. จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 24(2)
  4. จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 31(4)
  5. http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้