เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ข้าวมันไก่กับอหิวาต์เทียม


อาจารย์ ดร. กฤษณ์ ถิรพันธ์ุเมธี ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 15,242 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/01/2558
อ่านล่าสุด 9 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y8hptedm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y8hptedm
 

ในช่วงนี้ข่าวที่เป็นข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งนอกจากเรื่องของช้างป่าที่ออกมาเดินเล่นแล้ว คงจะเป็นข่าวเรื่องนักเรียนในโรงเรียนแถบภาคเหนือและอีสานป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษจากการรับประทานข้าวมันไก่ จากการตรวจสอบพบเชื้ออหิวาต์เทียมในอุจจาระ เนื่องจากการบริโภคข้าวมันไก่ใส่เลือดไก่ที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Vibrio parahaemolyticus เชื้อนี้เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง แกรมลบ ไม่สร้างสปอร์จัดอยู่ในตระกูล Vibrionaceae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับเชื้อ Vibrio cholerae ที่ก่อโรคอหิวาตกโรค จึงเรียกว่า โรคอหิวาต์เทียม เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในน้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ เช่น หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหารของมนุษย์ การติดเชื้อส่วนมากเกิดจากการรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก มีส่วนน้อยที่ได้รับเชื้อนี้เข้าทางบาดแผลเมื่อลงเล่นน้ำทะเลซึ่งกรณีนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง เมื่อคนรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้เกิดท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้หนาวสั่น มักพบอาการปวดบริเวณลำตัวร่วมด้วย โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยปกติอาการต่างๆ จะหายได้เองภายใน 3 วัน อาการป่วยรุนแรงไม่ค่อยพบในคนปกติแต่สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน มีรายงานผู้ที่เกิดโรคจากเชื้อนี้ปีละประมาณ 4,500 รายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เชื่อว่าตัวเลขนี้ต่ำกว่าอุบัติการจริงเนื่องจากความซับซ้อนในการตรวจวินิจฉัยและอาการของโรคคล้ายคลึงกับโรคทางทางเดินอาหารอื่นๆ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้อาการจะหายได้เองภายใน 3 วัน การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพอาจไม่จำเป็น เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่ายาต้านจุลชีพลดความรุนแรงของโรคหรือระยะเวลาของโรคที่เกิดได้ ผู้ป่วยควรได้รับสารน้ำทดแทนที่สูญเสียไปเนื่องจากท้องเสียหรืออาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถใช้ยาต้านจุลชีพ เช่น tetracycline หรือ ciprofloxacin ได้ อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนการติดเชื้อทางบาดแผลก็สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลจนกว่าแผลจะหาย
จะเห็นได้ว่าปกติเชื้อ V. parahaemolyticus จะพบในอาหารทะเลเท่านั้น ในกรณีของการตรวจพบเชื้อชนิดนี้ในเลือดไก่ที่นำมาใส่ในข้าวมันไก่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ในเลือดไก่ไม่ใช่อาหารทะเล ซึ่งยังไม่ทราบว่าเชื้อนี้มาปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถรับประทานข้าวมันไก่ได้ตามปกติ และควรเลือกร้านที่นำเลือดไก่ไปต้มสุกก่อนที่มาปรุงเพื่อจำหน่าย โดยสังเกตลักษณะเลือด หากยังคงมีสีแดงและหยุ่นนุ่มตรงกลางควรหลีกเลี่ยงการบริโภค หรือผู้บริโภคที่ซื้อเลือดไก่มาจากตลาดควรนำมาต้มให้สุกอีกรอบก่อนรับประทาน เนื่องจากเชื้อนี้เป็นเชื้อที่ไม่ทนความร้อน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ต้มที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที ก็สามารถทำลายเชื้อ V. parahaemolyticus ได้แล้ว


แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Baffone W, Casaroli A, Campana R, Citterio B, Vittoria E, Pierfelici L, Donelli G (2005). "In vivo studies on the pathophysiological mechanism of Vibrio parahaemolyticus TDH(+)-induced secretion". Microb Pathog 38 (2–3): 133–7.
  2. http://www.cdc.gov/vibrio/vibriop.html. January 15, 2015.
  3. http://www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=29520. January 15, 2015

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้