เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กลิ่นเท้า…ใครว่าไม่สำคัญ


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://encrypted-tbn0.gstatic.com/image...fIFANLsuY8
อ่านแล้ว 85,299 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/10/2558
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y6u2feuv
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y6u2feuv
 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับปัญหากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบริเวณเท้า ทั้งที่เกิดจากตัวคุณเอง หรือเกิดจากบุคคลรอบข้างของคุณ ซึ่งกลิ่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเหงื่อโดยตรง แต่เกิดจากแบคทีเรียที่ทำปฏิกิริยากับเหงื่อรวมถึงปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เท้าของเราเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อจำนวนมากเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเหงื่อที่ผลิตออกมาทำให้เท้าของเราเกิดความชุ่มชื้นและอ่อนนุ่ม แต่ถ้าหากไม่มีเหงื่อผิวหนังบริเวณเท้าก็จะแตกและทำให้รู้สึกเจ็บเวลาเดิน โดยต่อมเหงื่อที่เท้า จะผลิตเหงื่อออกมาตลอดเวลา สามารถผผลิตออกมาได้มากถึง 4.5 ลิตรต่อสัปดาห์ จึงเพิ่มโอกาสให้เกิดกลิ่นเท้าจากแบคทีเรีย แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าสาเหตุของกลิ่นเท้ามาจากอะไรได้บ้าง
เพราะเหตุใดเท้าจึงมีกลิ่นเหม็น ?
สาเหตุหลักของเท้าเหม็นเกิดจากเหงื่อและแบคทีเรีย โดยเหงื่อนั้นมี 2 ชนิด ทั้งแบบ มีกลิ่น และ ไม่มีกลิ่น เหงื่อที่มีกลิ่นถูกสร้างมาจากต่อมที่เรียกว่า apocrine sweat gland ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะ เหนียวใสมีไขมันมาก เป็นต่อมเหงื่อที่พบได้บางบริเวณของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น ส่วน เหงื่อที่ไม่มีกลิ่นถูกผลิตจากต่อมที่เรียกว่า eccrine sweat gland ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำ เป็นต่อมเหงื่อที่พบทั่วไปตามร่างกาย รวมถึงบริเวณเท้าจะพบเฉพาะต่อมเหงื่อชนิดนี้ ดังนั้นเหงื่อที่เท้า จึงไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นเกิดจากการที่แบคทีเรียย่อยสลายสารในเหงื่อเพื่อใช้เป็นพลังงาน โดยย่อยสลาย ได้เป็น methanethiol gas ซึ่งมีกลิ่น ตัวอย่างของ bacteria ที่พบบริเวณผิวหนัง เช่น Brevibacterium, Micrococcaceae, Corynebacterium นอกจากแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีแบคทีเรียบางชนิด ที่ย่อยสลายสารในเหงื่อแล้วเกิดเป็น กรดอะมิโนร่วมอีกด้วย เช่น Staphylococcus epidermidis ทำให้เกิด isoveleric acid และ Propionbacteria ทำให้เกิด propionic acid ซึ่งกรดอะมิโนพวกนี้ทำให้เกิดกลิ่น
พันธุกรรมเป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าจริงหรือ ?
พันธุกรรมไม่ได้เป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าโดยตรง แต่พันธุกรรมส่งผลต่อปริมาณต่อมเหงื่อที่เท้า เช่น ภาวะที่มีเหงื่อออกมาก(hyperhidrosis) คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตต่อมเหงื่อที่เท้ามากกว่าปกติ หรือ ผลิตเหงื่อออกมามากกว่าปกติ เนื่องจากระบบประสาท sympathetic ทำทำงานมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ ในทุกเพศทุกวัย หรืออาจเกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ส่วนใหญ่จะเกิด ในวัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์
รองเท้าและถุงเท้าที่สวมใส่มีผลต่อกลิ่นเท้าหรือไม่ ?
รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี หรือถุงเท้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น polyester หรือ nylon จะทำให้มีเหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น ซึ่งรองเท้าหรือถุงเท้านั้นก็จะดูดซับเหงื่อไว้ทำให้เกิดการอับชื้น เหมาะสมต่อการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราจึงทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้และการใส่รองเท้าตลอดทั้งวัน ก็จะทำให้รองเท้าเกิดการอับชื้นแล้วเกิดกลิ่นเท้าได้ด้วยเช่นกัน
มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่มีผลทำให้เกิดกลิ่นเท้า ?
การบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำมันสูง อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีกลิ่นแรง หรือ การได้รับสาร หรือยาบางชนิด เช่น nicotine, caffeine, codeine ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้ เนื่องจาก อาหารเหล่านี้ทำให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น นอกจากนี้การรับประทานยาบางชนิดเช่น naproxen, acyclovir รวมถึงการขาด zinc ภาวะความเครียด ก็ส่งผลให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น จึงทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้ในที่สุด
วิธีการลดการเกิดกลิ่นเท้ามีอะไรบ้าง ?
การรักษาเมื่อมีกลิ่นเท้านั้นมีหลากหลายวิธี วัตถุดิบสามารถหาได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
  1. ชา ผลการวิจัยพบว่า ชามีกรด tannic ช่วยลดขนาดรูขุมขน ทำให้เหงื่อออกน้อยลง และยังช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียบริเวณเท้าได้ โดยนำถุงชา 2 ถุงเล็กต้มกับน้ำครึ่งลิตรเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นเติมน้ำเย็น 2 ลิตรและนำไปแช่เท้าเป็นเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  2. น้ำเกลือ เกลือจะไปดึงความชื้นออกจากผิวหนังทำให้เท้าแห้ง ช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่เท้า โดยละลายเกลือครึ่งถ้วยในน้ำอุ่น 1 ลิตร แช่เท้าเป็นเวลา 20 นาที แล้วเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก ทำทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากรู้สึกว่าเท้าแห้งแตกควรเว้นระยะในการทำ
  3. น้ำส้มสายชู น้ำส้มสายชูจะช่วยให้เท้าแห้ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย โดยผสมน้ำส้มสายชู 250 มิลลิลิตรลงในน้ำอุ่น 1 ลิตร แช่เท้านาน 15 นาที แล้วล้างด้วยสบู่ ทำสัปดาห์ละครั้ง
  4. Baking Soda ช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยผสม Baking Soda 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 1 ลิตร แช่เท้านาน 20 นาที ทุกคืนเป็นเวลา 1 สัปดาห์
หากใช้วิธีบรรเทาอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจมีแนวโน้มเป็นโรคเท้าเหม็น ซึ่งยาที่ใช้รักษากลิ่นเท้าแบ่งเป็น
  1. ยาที่ลดความอับชื้น เช่น 20% Aluminium Chloride เป็นผงแป้ง ใช้วันละ 1 ถึง 2 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากยังคงมีเหงื่อออกมาก แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการฉีด Botulinum Toxin ที่ฝ่าเท้า เพื่อระงับ สัญญาณที่มาจากสมองไปยังต่อมเหงื่อเพื่อให้ลดการสร้างเหงื่อที่เท้า โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  2. ยาทาที่ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clindamycin, Erythromycin เป็นต้น
  3. ยาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Benzoyl peroxide เป็นต้น
อยากป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเท้าจะต้องทำอย่างไร ?
วิธีง่ายๆที่คุณสามารถทำได้เอง โดยคุณต้องรักษาความสะอาดของเท้า, พยายามทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ, ใส่รองเท้าถุงเท้าที่มีการระบายอากาศดีและไม่คับจนเกินไป, ไม่ควรใส่รองเท้าซ้ำทุกวัน ควรนำรองเท้าไปตากแดด, หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าที่ทำจาก nylon เนื่องจากเนื้อผ้าจะดักจับความชื้นเอาไว้ แต่ควรใส่ถุงเท้าที่ทำจาก cotton แทนเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี, ซักถุงเท้าให้สะอาด, ควรใส่ถุงเท้าคู่ใหม่ทุกวัน, โรยผงแป้งที่เท้าเพื่อดูดซับความชื้น, พ่นผลิตภัณฑ์ที่กำจัดกลิ่นลงบนถุงเท้าและรองเท้าเพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย, รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และรับประทานอาหารที่มี Zinc เป็นส่วนประกอบ เช่น หอยนางรม, ไก่, ไข่, นม, จมูกข้าว และธัญพืช เป็นต้น
แม้ว่าปัญหาเท้าเหม็นจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้กับบุคคลรอบข้างและลดความมั่นใจของตัวคุณเอง ดังนั้นเราจึงควรหันมาดูแลสุขลักษณะและความสะอาดของเท้าของเราให้ปราศจากกลิ่นกันดีกว่า
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Jenn F. (2013). What Causes Smelly Feet?. http://www.sterishoe.com/foot-care-blog/shoe-odor/what-causes-smelly-feet/ [accessed on 9 September 2015]
  2. Men’s Health. (2014). If you can catch a whiff of your feet without bending over, you’re got a problem. http://www.menshealth.com/grooming/cures-smelly-feet [accessed on 9 September 2015]
  3. Body mint. Foot Odor. http://www.bodymint.com/foot-odor-what-causes-stinky-feet/ [accessed on 9 September 2015]
  4. Landsman M. (2015). Foot Odor Causes, Treatment and Prevention. http://www.footvitals.com/skin/foot-odor.html [accessed on 9 September 2015]
  5. Trimarchi M. Do bacteria cuase body odor? http://health.howstuffeorks.com/wellness/ men/sweatimg-odor/bacteria-cause-body-odor.html [accessed on 9 September 2015
  6. Schwartz RA. (1015). Hyperhidrosis. http://emedicine.medscape.com/article/1073359-overwiew#a5 [accessed on 9 September 2015]

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้