เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล และ อ.ดร.ภญ.วริสรา ปาริชาติกานนท์)
ภาพประกอบจาก: http://worldartsme.com/images/cough-and-...part-1.jpg
อ่านแล้ว 374,167 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/04/2559
อ่านล่าสุด 5 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/ydc65jjm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ydc65jjm
 

การไอ เป็นอาการที่เกิดกับทุกเพศ ทุกวัย บุคคลส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ไอ” เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเกิดอาการไอก็คิดว่าคง เกิดความผิดปกติในทางเดินหายใจ แท้จริงแล้ว การไอมีประโยชน์ เพราะ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศที่แห้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ สูดแก๊สที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักทำให้เกิด การไอแบบเฉียบพลัน (มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์) แต่ถ้าเกิดการไอเรื้อรัง (มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์) บ่งบอกว่าอาจมีพยาธิสภาพบางอย่างในทางเดินหายใจ เช่น โรควัณโรคปอด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง หรืออาจมีพยาธิสภาพที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ปอดอักเสบ มีเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ หรือ อาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting-enzyme inhibitor)
ผลเสียของการไอคือ รบกวนการนอนหลับ/การทำงาน ทำให้อ่อนเพลีย-หมดแรง ปวดศีรษะ ถ้าเด็กติดเชื้อไอกรน อาจไอมากจนหยุดหายใจได้ การไออย่างรุนแรง อาจส่งผลให้กระดูกอ่อนซี่โครงหัก หรือทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก แผลที่เพิ่งหายปริ และอาจทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอมีเสมหะ และ ไอไม่มีเสมหะ ฉะนั้น เมื่อเกิดอาการไอ การจะรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอ ควรเลือกชนิดของยาให้ถูกต้องกับอาการไอนั้นๆ
ยาบรรเทาอาการไอ ชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการไอ (Antitussive) เป็นยาที่กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง แม้ว่ายา กลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพดีในการทำให้อาการไอลดลง แต่ยาบางตัวในกลุ่มนี้ เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆจะทำให้เสพติดได้ เช่น codeine, hydrocodone และถ้าใช้เกินขนาด ยาอาจไปกดการหายใจ จนอาจถึงแก่ความตายได้ ตัวอย่างของยา กลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันคือ dextromethophan อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา dextromethophan เกินขนาดคือคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันหรือแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้อย่างไรก็ดี และเนื่องจากยามีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาอื่นที่กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ (ยาต้านฮีสตามีน กลุ่มดั้งเดิม) ยารักษาอาการทางจิตประสาท อาจเกิดการเสริมฤทธิ์กดสมองจนอาจเป็นอันตรายได้ สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 4 ปี) ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการไอ เพราะ อาจกดสมองเด็กจนเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้การใช้ยากลุ่มนี้ยังห้ามใช้ยานี้ในคนที่ไอมีเสมหะเหนียว เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวข้นและเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ ทำให้เป็นอันตรายได้ ยากลุ่มนี้จึงใช้ในกรณีของการไอที่ไม่มีเสมหะ แต่ยานี้ ไม่สามารถใช้รักษาอาการไอจากการสูบบุหรี่ ไอจากโรคหืด หรือไอจากถุงลมโป่งพอง
ยาบรรเทาอาการไอชนิดที่มีฤทธิ์ขับเสมหะเสมหะ ยากลุ่มนี้เป็นยาแก้ไอที่ใช้กันมานาน ยาจะไปทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหาร แล้วส่งผลให้เพิ่มการสร้างสารหลั่งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้เสมหะที่เดิมมีความเหนียวข้น ถูกสารน้ำทำให้มีความหนืดลดลง ผู้ป่วยจึงสามารถไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น แต่ในระยะแรกของการใช้ยาขับเสมหะ ผู้ป่วยจะมีปริมาณเสมหะมากขึ้น (ซึ่งเป็นผลจากการที่ยาไปเพิ่มสารหลั่งประเภทน้ำ) และไอมากขึ้น เพื่อขับเสมหะออกจากทางเดินอากาศ จนเมื่อไอกำจัดเสมหะออกหมด/น้อยลง อาการไอจะลดลง ยากลุ่มนี้จึงใช้ในกรณีของการไอมีเสมหะ ตัวอย่างของยาขับเสมหะ คือ Guaifenesin, ammonium chloride, ammonia, senega, sodium citrate, ipecacuanh อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา คือ คลื้นไส้ อาเจียน ปั่นป่วนไม่สบายกระเพาะอาหาร
ยาบรรเทาอาการไอ ชนิดที่มีฤทธิ์ละลายเสมหะ ยากลุ่มนี้ไปทำลายโครงสร้างของเสมหะส่วนที่ทำให้เสมหะเหนียว แต่ไม่ได้ไปเพิ่มปริมาณของเสมหะ เป็นเพียงทำให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง ผู้ป่วยจึงไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างของยาละลายเสมหะ คือ acetylcysteine , carbocisteine, erdosteine, bromhexine (ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี) อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา คือ ยากลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยมาก แต่ก็เคยมีรายงานว่าเกิดมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ฉะนั้นถ้าใช้ยาแล้วมีอุจจาระสีดำ ให้หยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ ยากลุ่มนี้ใช้ในกรณีของการไอมีเสมหะ
ยาบรรเทาอาการไอทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นนี้ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า "ไม่แนะนำให้ใช้ยาเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการไอในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี" เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยาเหล่านี้ในเด็กเล็ก สำหรับเด็กที่มีอายุ 2-11 ปี ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเลือกใช้ยาอย่างถูกต้อง” ข้อความนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเมื่อลูกน้อยเกิดอาการไอ จะใช้ยาอะไร มีคำแนะนำจาก Mayo Clinic ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ว่าให้ดื่มน้ำอุ่น (หรือเครื่องดื่มอุ่นๆชนิดอื่น) ผสมน้ำผึ้งและมะนาว เพื่อบรรเทาอาการไอ น้ำผึ้งจะเคลือบลำคอ ลดอาการระคายคอ ส่วนน้ำอุ่นและมะนาวจะช่วยละลายเสมหะ นั่นคือ การจิบน้ำอุ่นบ่อยๆเพียงอย่างเดียวก็ช่วยละลายเสมหะและบรรเทาการไอได้แล้ว และเมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอได้รับการแก้ไข/กำจัดอย่างสมบูรณ์แล้ว การไอจะค่อยทุเลาลงเอง
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ถ้าอาการไอเกิดร่วมกับ ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ แสดงว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ จึงจะได้ผล และมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ต้องรีบไปพบแพทย์ หากหลังจากรับประทานยาแก้ไอแล้ว 2 สัปดาห์ อาการไอยังไม่บรรเทาลง ต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า มีความผิดปกติอะไรแฝงอยู่หรือไม่
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.nmd.go.th/preventmed/self/cough.html accessed 03/04/2016
  2. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm048682.htm accessed 03/04/2016
  3. http://www.rcot.org/data_detail.php?op=knowledge&id=2 accessed 03/04/2016
  4. https://www.thoracic.org/copd-guidelines/for-patients/what-kind-of-medications-are-there-for-copd/what-are-mucolytic-agents.php accessed 03/04/2016
  5. Woo T. J Pediatr Health Care. 2008 Mar-Apr;22(2):73-9 accessed 03/04/2016
  6. http://www.nps.org.au/medicines/respiratory-system/cough-and-cold-medicines/for-individuals/types-of-cough-medicines accessed 03/04/2016
  7. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/common-cold/expert-answers/honey/faq-20058031 accessed 03/04/2016
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 24 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้