เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มะเร็ง ... นวัตกรรมใหม่ในการรักษาและวินิจฉัยที่ได้ผลเฉียบกว่าเดิม


อาจารย์ ดร. ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.editiontruth.com/wp-content/u...Market.jpg
อ่านแล้ว 14,184 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/03/2561
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yabzd7qb
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yabzd7qb
 

สถานการณ์มะเร็งในประเทศไทย
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับสองของประชากรโลก คิดเป็น 13% จากสาเหตุทั้งหมดของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 7,600,000 รายทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรก ในเพศชายได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปากและคอหอย และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตามลำดับ ส่วนในเพศหญิงได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลําไส้ใหญ่ ตามลำดับ

ภาพจาก : http://www.nanotechetc.com/wp-content/uploads/2017/03/Best-Applications-Of-Nanotechnology-500x200.jpg
ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน
  1. ปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมส่วนตัวหรือไลฟ์สไตล์ (Life style) ซี่งอาจทำให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล เช่น ไม่รับประทานผัก ผลไม้ การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของพยาธิใบไม้และสารอะฟลาท็อกซิน ภาวะอ้วน การขาดการออกกำลังกาย และการชอบอาบแดด เป็นต้น
  2. ปัจจัยเสี่ยงทางชีววิทยา เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือ ซี (Hepatitis B หรือ Hepatitis C) การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในทางเดินอาหาร และการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ที่ปากมดลูก นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง
การป้องกันการเกิดมะเร็งนั้นสามารถทำได้ โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) และมะเร็งตับ (Hepatitis B vaccine)
การรักษามะเร็งและปัญหาการดื้อยา
ขั้นตอนในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเริ่มจากการตรวจคัดกรอง ตามด้วยการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาระยะของโรคและวางแนวทางในการรักษาได้แก่ การผ่าตัดเพื่อตัดเอาเนื้องอกออกมา (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นมะเร็งที่เกิดในระยะเริ่มแรก มีจำนวนเนื้องอกน้อย) การให้เคมีบำบัดหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าให้คีโม (Chemotherapy) และการฉายแสง (Radiotherapy) ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับเคมีบำบัดและการฉายแสงนั้น มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจาการใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง เช่น ผมร่วง คลื่นใส้ อาเจียน เบื่ออาหาร จนถึงอาการรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เนื่องจากตัวยาเคมีบำบัดไม่มีความจำเพาะเจาะจง (Non-selective) ต่อเซลล์มะเร็ง ทำให้มีตัวยาบางส่วนไปออกฤทธ์กับเซลล์ปกติด้วยซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ดังกล่าว จากการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ของมะเร็ง (Cancer genetic) ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าทำไม ผลการรักษาผู้ป่วยที่มีเพศเดียวกันและเป็นมะเร็งในระยะเดียวกัน มีอายุใกล้เคียงกัน จึงไม่เหมือนกัน รายหนึ่งอาจสามารถหายขาดได้ แต่อีกรายหนึ่งการรักษาแบบเดียวกันอาจไม่ได้ผลเลย เนื่องจากมะเร็งนั้นประกอบไปด้วยเซลล์มะเร็งที่หลากหลาย (Cancer heterogeneity) ประชากรเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่อาจมีความไวต่อยาเคมีบำบัด แต่ประชากรเซลล์บางส่วนมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อยาเคมีบำบัดได้ โดยสามารถกำจัดยาเคมีบำบัดออกมาจากเซลล์ได้เอง ส่งผลให้เกิดการดื้อยาเคมีบำบัด ดังนั้นการตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อสังเกตความความผิดปกติของร่างกายจะช่วยให้สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง หรือมีการพัฒนาของเซลล์จนทำให้เกิดภาวะดื้อยา ทำให้มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง
นวัตกรรมนาโนเทอรานอสติก (Nanotheranostics)
เทอรานอสติก (Theranostics) เกิดจากการรวมกันของคำภาษาอังกฤษ สองคำคือ Therapeutics (การรักษา) และ Diagnostics (การตรวจวินิจฉัย) ดังนั้น “Theranositcs” หรือ “Theragnostics” เป็นนวัตกรรมการรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ที่สามารถทำการรักษามะเร็งพร้อมกับการตรวจวินิจฉัย ดังนั้นทันทีที่มีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง เซลล์มะเร็งที่ถูกตรวจพบจะถูกทำลายด้วยยาเคมีบำบัด หรือ พลังงานความร้อนได้ในทันที การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดทรัพยากร ระยะเวลา บุคคลากรทางการแพทย์ และขั้นตอนในการรักษา และยังช่วยลดอาการข้างเคียงของการใช้เคมีบำบัดและการฉายแสงได้ จากการศึกษาวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การนำนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบ Theranositcs ทำให้นักวิจัยสามารถออกแบบระบบที่เรียกว่า “Nanotheranositcs” ที่มีความจำเพาะเจาะจงเพิ่มขึ้น (Selective) ต่อเซลล์มะเร็งได้
Nanotheranositcs อาจเป็นแนวความคิดที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มความหวังให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนานวัตกรรมนี้ยังคงต้องการข้อมูลความปลอดภัยของการเลือกใช้อนุภาคนาโนแต่ละชนิดในระยะยาว ข้อมูลของการเกิดการเปลี่ยนแปลงของ Nanotheranositcs ระหว่างการรักษาและหลังจากการรักษา และข้อมูลการย่อยสลาย หรือการกำจัด nanotheranositcs ภายหลังการรักษา รวมถึงข้อมูลจากการทดลองใช้ทางคลินิกเพื่อที่จะได้สามารถกำหนดขอบเขตของการใช้งานในมะเร็งแต่ละชนิดได้อย่างปลอดภัยและถูกต้องเหมาะสม ในปัจจุบันมี Nanotheranositcs ที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกในระยะสุดท้าย (Clinical trial phase) และในบางประเทศมีการอนุมัติให้ใช้ทางคลินิกเพื่อช่วยเพิ่มความละเอียดและความคมชัดของภาพถ่ายซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการวินิจฉัยได้เป็นอย่างดี
นาโนเทอรานอสติกกับการให้ยาเฉพาะบุคคล (Nanotheranostics for personalised medicine)
การออกแบบยาที่ผ่านมานั้นใช้แนวความคิดแบบ “One fits all” หรือ “ยาเม็ดเดียวรักษาได้ทุกคน” ซึ่งสามารถใช้ได้ดีกับการรักษาอาการที่ไม่ซับซ้อน แต่ไม่สามารถใช้อธิบายการรักษาโรคมะเร็งได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างนี้มีอิทธิพลอย่างมากจนทำให้การรักษาด้วยยาชนิดเดียวกันไม่สามารถรักษาผู้ป่วยทุกคนให้ได้ผลลัพธ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้อีกต่อไป จึงมีแนวความคิดของการรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายโดยคำนึงถึงอาการ ความผิดปกติ และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นหลัก หรือ “Personalised medicine” โดยเริ่มจากการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง การที่นักวิจัยสามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมี และทางชีวะโมเลกุลของระบบ Nanothernostics เพื่อให้เกิดการนำส่งยาไปที่เซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายได้นั้น นับว่าเป็นคุณลักษณะที่ดีและเหมาะสมกับแนวคิด Personalised medicine เป็นอย่างมาก จึงมีการพัฒนา Nanotheranostics ขึ้นเพื่อเป็นระบบต้นแบบในการรักษามะเร็ง ปัจจุบันมีความสนใจในการวิจัยและพัฒนา Nanotheranostics เพื่อประยุกต์ใช้กับมะเร็งแต่ละชนิด เนื่องจาก Nanothranostics สามารถผนวกขั้นตอนการวินิจฉัยและการรักษาเข้าด้วยกันในครั้งเดียวตามที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการรักษามะเร็งได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ Nanotheranostics ยังสามารถใช้ในการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ได้อย่างรวดเร็วหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยา เพราะอาศัยเทคนิคการถ่ายภาพตามเวลาจริงหลังจากให้ยา การใช้ Nanocarriers ที่มีคุณสมบัติเป็น Image contrast agents ได้ด้วยนั้นจะทำให้สามารถถ่ายภาพด้วยเครื่องมือสองชนิดในเวลาเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคได้ เมื่อประมวลผลการตรวจองค์รวมจะทำให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาที่รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงยังสามารถให้ข้อมูลของการกระจายตัวของยาในเนื้องอก และประเมินประสิทธิภาพของตัวยาสำคัญที่ผู้ป่วยได้รับอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ระบบ Nanotheranostics อาจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีในทางคลินิกสำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติของผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นและทำการรักษาได้ทันท่วงที รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์การตอบสนองของยาในผู้ป่วยแต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยาแต่ละชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ และหากนำระบบนี้มาประยุกต์ใช้กับโรคชนิดอื่นๆที่มีความซับซ้อน เช่น เบาหวาน ความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน และความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการวินิจฉัยและการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. คณะกรรมการ จัดทําแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (2556) แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2556 - 2560). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด. Available form: http://www.nci.go.th/th/file_ download/d_index/nccp_2556-2560.pdf [Accessed 2018 Feb 15]
  2. Jo, S.D., Ku, S. H., Won, Y., Kim, S. H. and Kwon, I. C. (2016) Targeted nanotheranostics for future personalized medicine: recent progress in cancer therapy. Theranostics. 6(9): 1362-1377.
  3. Harris-Birtill, D., Singh, M., Zhou, Y., Shah, A., Ruenraroengsak, P., Gallina, M.E., Hanna, G.B., Cass, A.E.G., Porter, A.E., Bamber, J. and Elson, D. S. (2017) Gold nanorod reshaping in vitro and in vivo using a continuous wave laser. PLoS ONE, 12: 1932-6203.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว
โรคกระดูกพรุน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้