เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


จอประสาทตาลอก (Retinal detachment)


รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://www.mayoclinic.org/-/media/kcms/...hu_jpg.jpg
อ่านแล้ว 19,678 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 11/07/2561
อ่านล่าสุด 7 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y7a8u84t
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y7a8u84t
 

การมองเห็นทำให้มนุษย์และสัตว์สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา โดยการกระตุ้นจอประสาทตาหรือจอตา (retina) ซึ่งอยู่ชั้นในสุดของลูกตาและมีเซลล์หลายชนิดเรียงตัวกันเป็นชั้นๆ มีตัวรับแสงที่สำคัญได้แก่ เซลล์รูปแท่ง และเซลล์รูปกรวย ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นกระแสประสาทแล้วส่งไปตามเส้นประสาทตาเข้าสู่สมองเพื่อแปลภาพ ถ้าจอตาลอกจะมีผลต่อการมองเห็น อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ดังนั้นการสังเกตุพบความผิดปกติเริ่มแรกและได้รับการรักษาโดยเร็วจึงสามารถช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้
ภาพจาก : https://c8.alamy.com/comp/ARCPJA/retinal-detachment-refers-to-separation-of-the-inner-layers-of-the-ARCPJA.jpg
จอประสาทตาลอก
หมายถึงภาวะที่เกิดการลอกหรือแยกตัวของจอตาจากตำแหน่งเดิม มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แบ่งตามสาเหตุและลักษณะทางพยาธิสรีรวิทยาได้ 3 ชนิดคือ
  1. จอตาลอกที่มีรูหรือรอยฉีกขาดที่จอตา เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาจเกิดจากอุบัติเหตุดวงตาได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือเกิดจากจอตาเสื่อม จึงเกิดรูฉีกขาดของจอตา
  2. จอตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้งโดยพังผืดหรือวุ้นตา พบในผู้เป็นเบาหวานขึ้นตาหรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ตาทะลุหรือลูกตาแตก มีการอักเสบของวุ้นลูกตาหรือจอตาแล้วเกิดพังผืด
  3. จอตาลอกที่เกิดจากสารน้ำรั่วซึมหรือมีของเหลวสะสมอยู่ใต้ชั้นของจอตา พบในผู้ป่วยโรคคอรอยด์อักเสบ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ และผู้ป่วยโรคไตวาย เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยที่มีจอตาลอก
อาการเริ่มต้น คือ มองเห็นจุดดำลอยไปมา บางรายตามัวและมองเห็นคล้ายหยากไย่ เมื่ออยู่ในที่มืดมองเห็นแสงวาบๆ คล้ายฟ้าแลบ หรืออาจพบว่าลานสายตาผิดปกติ ทำให้การมองเห็นมีภาพบางส่วนหายไป เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์ด่วนเพื่อ รับการตรวจจอตาโดยละเอียด และรักษาได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นได้เป็นปกติมากที่สุด
    ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดจอตาลอก ได้แก่
  • อายุ ในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดจอตาลอกเนื่องจากวุ้นลูกตาเสื่อมตามวัย จึงมีการหดตัวและลอกหลุดออกจากจอตา
  • ความผิดปกติทางสายตา ในรายที่มีสายตาสั้นมากๆ วุ้นลูกตาจะเกิดความเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  • พันธุกรรม บุคคลในครอบครัวมีประวัติจอตาลอก
  • โรคเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้หรืดเป็นโรคเบาหวานมานานจนเกิดภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขึ้นตา
  • มีการอักเสบหรือติดเชื้อภายในลูกตา
  • เคยมีประวัติการเกิดจอตาลอกมาก่อนแล้ว
ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาเป็นประจำสม่ำเสมอ และถ้าพบความผิดปกติให้รีบไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที ให้ได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา ในระบบรับความรู้สึก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555 หน้า 43-68.
  2. โสมนัส ถุงสุวรรณ รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก (Retinal Tear and Detachment) ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 มิ.ย. 2561].
  3. Schubert HD. Basic and Clinical Science Course, Section 12: Retina and Vitreous. Section 12. American academy of ophthalmology. 2015-2016.
  4. Steel D. Retinal detachment. Clinical Evidence 2014,03:710:1-32

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


จอประสาทตาลอก (Retinal detachment) 1 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 15 วินาทีที่แล้ว
สิวเชื้อรา และการรักษา 29 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้