การพัฒนาตำรับยาสีฟันสมุนไพร ที่มีส่วนผสมของฟักข้าว

โดย: นางสาวศินุช ชูสิทธิ์,นางสาวศุภนิดา ชุติพงศ์ศาศวัต    ปีการศึกษา: 2560    กลุ่มที่: 12

อาจารย์ที่ปรึกษา: วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์    ภาควิชา: ภาควิชาชีวเคมี

Keyword: ยาสีฟันสมุนไพร, ฟักข้าว , Herbal toothpaste, Gac, Tooth decay
บทคัดย่อ:
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตำรับยาสีฟันสมุนไพร โดยผสมสารสกัดจากฟักข้าว และสมุนไพรอื่นๆที่มีฤทธิ์ทางทันตกรรม รวมทั้งสมุนไพรที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ข่อย เปลือกมังคุด กานพลู และฝรั่ง โดยฟักข้าว เปลือกมังคุด และกานพลูได้มาจากการสกัด ส่วนข่อยและฝรั่งจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในขั้นตอนแรกจะทำการพัฒนาสูตรตำรับจนได้สูตรที่เหมาะสม จากนั้นจึงทดสอบในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติความคงตัว และประเมินความพึงพอใจทางประสาทสัมผัสด้วยวิธี 9 - point Hedonic Scale ของยาสีฟันสมุนไพรที่แตกต่างกัน 3 สูตร ได้แก่ ยาสีฟันสมุนไพรที่มีส่วนผสมของฟักข้าวที่พัฒนาขึ้น 2 สูตร คือ สูตรไม่มีเกลือ และสูตรที่มีเกลือ และผลิตภัณฑ์ยาสีฟันควบคุมที่เป็นตัวแทนของยาสีฟันสมุนไพรในท้องตลาด พบว่า ยาสีฟันสมุนไพรที่มีส่วนผสมของฟักข้าวที่พัฒนาขึ้น มีลักษณะเหลวข้น สีเหลือง ไม่เป็นเนื้อเดียวกันนัก มีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 6.80-7.34 ผลการทดสอบทางจุลชีววิทยาพบว่าตำรับยาสีฟันสมุนไพรที่มีส่วนผสมของฟักข้าว มีปริมาณเชื้อน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ เมื่อเก็บในสภาวะเร่ง ที่อุณหภูมิ 45 ± 2 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าตำรับยาสีฟันฟักข้าวสูตรไม่มีเกลือที่มีปริมาณสารฮิวเมคแทนท์น้อยกว่าจะมีเนื้อยาสีฟันที่แห้งมากกว่าตำรับยาสีฟันฟักข้าวสูตรมีเกลือที่มีสารฮิวเมคแทนท์มากกว่า และทั้ง 2 สูตรมีเนื้อยาสีฟันที่แห้งกว่าผลิตภัณฑ์ยาสีฟันควบคุม และจากการประเมินความพึงพอใจในอาสาสมัคร 46 คน พบว่าผู้ใช้มีความพึงพอใจในระดับชอบน้อยถึงชอบปานกลางทั้ง 2 ตำรับ ซึ่งไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ยาสีฟันควบคุมอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงได้พัฒนาสูตรตำรับอีกครั้ง โดยปรับเพิ่มสารฮิวเมคแทนท์ ลดปริมาณน้ำ และลดปริมาณสารขัดสี พบว่ายาสีฟันมีสีเหลืองอ่อน เป็นเนื้อเดียวกัน มีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 6.91-7.42 ทั้งนี้ควรทดสอบเพิ่มเติมในหัวข้อ คุณสมบัติความคงตัว และประเมินทางประสาทสัมผัสต่อไป
abstract:
The objective of this special project is to develop herbal toothpaste by adding Gac (Momordica cochinchinensis) extract and other well known herb that has dental activity, which are tooth brush tree, mangosteen peel, clove and guava. Gac, mangosteen peel and clove were extracted, whereas tooth brush tree and guava were from commercial product. In the first step, appropriated herbal toothpaste were formulated and were tested on physical properties, chemical properties, stability and satisfaction of three formulations; herbal toothpaste containing Gac with salt, herbal toothpaste containing Gac without salt and commercial herbal toothpaste. Formulated herbal toothpaste containing Gac were yellowish, not viscous and not homogenize. The pH value was ranged from 6.8-7.34. Microbial in the formulations were less than the requirement and we unable to inhibit Streptococcus mutans in both formulations. The stability test (at 45 ± 2ºC for 6 weeks) showed that herbal toothpaste containing Gac without salt, which has less humectant, were more dry than herbal toothpaste containing Gac with salt. Both formulations were more dry when compare with commercial herbal toothpaste. The satisfaction test was done in 46 volunteers and showed upper moderate satisfaction in both formulations which was not statistically difference from commercial herbal toothpaste. Therefore, better toothpaste formulations were developed by adding humectants, reducing water and abrasive. We got a yellowish appropriate viscosity and homogenize herbal toothpaste. The pH value was ranged from 6.91-7.42. However, stability test and satisfaction test should be further performed.
.