การพัฒนาสูตรตำรับยาเม็ดริสเพอริโดนชนิดแตกตัวเร็วในช่องปาก

โดย: ปุรินทร์ เจริญสุกใส,เศรษฐพงษ์ เตชะเลิศ    ปีการศึกษา: 2550    กลุ่มที่: 18

อาจารย์ที่ปรึกษา: สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

Keyword: ริสเพอริโดน , กระจายตัวในช่องปาก, Risperidone, Orodispersible
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรตำรับยาเม็ดริสเพอริโดน ชนิดแตกตัวเร็วใน ช่องปาก โดยเริ่มจากการค้นข้อมูลของตัวยาสำคัญและสารช่วยแต่ละชนิด ได้แก่ เจลาติน แมนนิ ทอล ไกลซีน และเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน และทำการพัฒนาตำรับยาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วในช่องปาก ด้วยเทคนิคไลโอฟิไลเซชัน ขั้นตอนในการพัฒนาตำรับเริ่มจากการศึกษาการเพิ่มขีดการละลาย ของตัวยาริสเพอริโดนด้วยการทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน พบว่าสัดส่วน ที่เหมาะสมระหว่างริสเพอริโดนกับเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน คือ 1:4 โดยโมล นอกจากนี้ยังพบว่าการเติมวิตามินซีลงไปในปริมาณ 50 มก./100 มล. ช่วยเพิ่มขีดการละลายได้ หลังจากนั้นได้ศึกษาผลของสารช่วยต่างๆต่อลักษณะภายนอกของยาเม็ดซึ่งปราศจากตัวยาสำคัญ ซึ่งเตรียมจากการไลโอฟิไลเซชันสารละลายในน้ำของสารช่วยแต่ละชนิดในความเข้มข้นต่างๆ จำนวน 1.5 มล. ต่อหนึ่งเม็ด ผลการศึกษาพบว่าเจลาตินและแมนนิทอลให้ยาเม็ดที่คงรูปร่างอยู่ได้ ในขณะที่ไม่สามารถใช้ไกลซีนเดี่ยวๆเตรียมเป็นยาเม็ดได้ นอกจากนี้พบว่า เจลาตินให้ยาเม็ดที่มีความเหนียว มีความยืดหยุ่น ส่วนแมนนิทอลให้ยาเม็ดที่มีความแข็งแรงแต่การยึดเกาะไม่ดี ในการทดลองขั้นต่อไปได้เตรียมยาเม็ดที่มีตัวยาริสเพอริโดนในปริมาณ 2 มก.ต่อหนึ่งเม็ด โดยใช้สารช่วยทั้งสามชนิดในอัตราส่วนต่างๆกัน และอะเซซัลเฟม เค เป็นสารแต่งรส ผลการศึกษาพบว่า ยาเม็ดที่มีลักษณะทางกายภาพดีที่สุด ใน 1 เม็ดประกอบด้วยริสเพอริโดน 2 มก. เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน 22.12 มก. เจลาติน 20 มก. แมนนิทอล 25.13 มก.ไกลซีน 30 มก.วิตามินซี 0.75 มก. และ อะเซซัลเฟม เค 2.25มก. เมื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณตัวยาสำคัญด้วยการวัดการดูดกลืนแสงพบว่า มีตัวยาสำคัญอยู่ในช่วง 93 - 101% ในงานวิจัยนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถเตรียมยาเม็ดริสเพอริโดนชนิดแตกตัวเร็วในช่องปากได้ด้วยวิธีไลโอฟิไลเซชันได้ในระดับห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาสูตรตำรับและกระบวนการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
abstract:
This special project aimed to develop the formulation of risperidone orodispersible tablets. The study started from literature searches on active ingredients and excipients including gelatin, mannitol, glycine and β-cyclodextrin (BCD) to the formulation development of orodispersible tablets by lyophilization technique. In the first step of formulation, solubilization of risperidone by complexation with BCD was studied. It was found that appropriate drug to BCD molar ratio was 1:4 and addition of ascorbic acid at 50 mg/100 mL could increase drug solubility. Moreover, effect of excipients on appearance of tablets without drug, prepared by lyohilization of aqueous solution (1.5 mL/tablet) with different concentrations of excipients, was investigated. The results indicated that use of gelatin or mannitol in the formulations could produce the physically stable tablets but not the use of glycine. In addition, gelatin could produce the sticky and elastic tablets whereas mannitol could produce the hard and brittle tablets. Later, the tablets containing 2 mg of risperidone per tablet were prepared using different amounts of various excipients and acesulfame K as sweetener. The results revealed that the best physically acceptable tablets consisted of risperidone 2 mg, BCD 22.12 mg, gelatin 20 mg, mannitol 25.13 mg, glycine 30 mg, ascorbic acid 0.75 mg and acesulfame K 2.25 mg. The assay by spectroscopy indicated that the drug content was in the range of 93-101%. This study demonstrated that risperidone orodispersible tablets could be prepared in laboratory by lyophilization. However, additional studies were necessary to develop the appropriate formulation and manufacturing process for industrial scale production.
.