การศึกษาปัญหายาค้างจ่าย ณ ห้องจ่ายยากลาง โรงพยาบาลรามาธิบดี

โดย: นายปิยะพล สวัสดิ์มงคล,นายพิศาล ปรีชาวัฒน์    ปีการศึกษา: 2546    กลุ่มที่: 2

อาจารย์ที่ปรึกษา: บุษบา จินดาวิจักษณ์ , สกาวลักษณ์ เทพลักษณ์เลขา , รัศมี ธนูศรี , กิตติศักดิ์ แสงลับ    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ใบสั่งยาที่ไม่มีผู้รับ, ยาค้างจ่าย, Unclaimed prescriptions, Unreceived drugs
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุที่ผู้ป่วยไม่รอรับยาจนเกิดการค้างจ่ายยา ตลอดจนประเภทและมูลค่าของยาที่ค้างจ่าย ณ ห้องจ่ายยากลาง โรงพยาบาล รามาธิบดี ทำการศึกษายาค้างจ่ายในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ในวันและเวลาราชการ ซึ่งมีจำนวนใบบัญชีจ่ายยาที่ผู้ป่วยไม่รอรับยาในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 114 ใบ ติดตามบัญชีจ่ายยาและเวชระเบียนของผู้ป่วยเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยที่ตรวจรักษาและที่อยู่ของผู้ป่วย จากนั้นจึงส่งแบบสอบถามไปยังผู้ป่วยเพื่อทราบสาเหตุที่ผู้ป่วยไม่รอรับยา ได้รับแบบสอบถามกลับมา 41 ฉบับ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน คิดเป็นแบบสอบถามที่ตอบกลับมาและใช้ในการประมวลผลจำนวน 40 ฉบับ (ร้อยละ 35.1) พบว่าผู้ป่วย 44 คนจากผู้ป่วยทั้งหมด 114 คน (ร้อยละ 38.6) มาตรวจที่หน่วยตรวจโรคผู้ป่วยนอกอายุรศาสตร์และผู้ป่วย 15 คนจากผู้ป่วยที่ตอบแบบสอบถาม 40 คน (ร้อยละ 37.5) มาตรวจที่หน่วยตรวจโรคผู้ป่วยนอกอายุรศาสตร์ สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่รอรับยามากที่สุดคือรอรับยานาน 21 คน (ร้อยละ52.5) รองลงมาคือมีเงินไม่พอ 10 คน (ร้อยละ 25) มีธุระด่วน 9 คน (ร้อยละ 22.5) มียาเก่าเหลืออยู่หรือมียาอยู่ที่บ้านแล้ว 8 คน (ร้อยละ 20) ต้องการไปซื้อยาจากที่อื่น 4 คน (ร้อยละ10) รู้ว่าซื้อยาเองได้ 2 คน (ร้อยละ 5) และสาเหตุอื่นๆ 9 คน (ร้อยละ 22.5) ผลการศึกษาสรุปได้ว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาการค้างจ่ายยา คือ การรอรับยานาน ซึ่งควรดำเนินการแก้ไขต่อไป
abstract:
The objective of this project was to determine the reasons patients did not claim prescriptions and the costs of unclaimed prescriptions at Central Pharmacy Unit, Ramathibodi Hospital. The study was conducted during January and February 2003 on the working days and the office hours. There were 114 prescriptions that were unclaimed during the study period. Data were collected from dispensing receipts and patient charts for the medical service patients attended and their home address. Questionnaires were then mailed to those patients to ask for their reasons of unclaim. There were 41 respondents, in which one was dead, resulting in 40 respondents (35.09%) used in data analysis. The study showed that 44 of 114 patients (38.6%) attended medical outpatient department and 15 of 40 patients (37.5%) attended medical outpatient department. Reasons that patients did not claim their prescriptions was too long waiting time (21 patients, 52.5%), followed by insufficient money to pay for medication (10 patients, 25%), having urgent duty (9 patients, 22.5%), available drug at home (8 patients, 20%), having intention to buy drugs from other places (4 patients, 10%), having intention to buy drug by themselves (2 patients, 5%), and miscellaneous reason (9 patients, 22.5%). It is concluded that the most important reason of unreceived drugs was too long waiting time and this should be further resolved.
.