พฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารสกัดที่ได้จากวัตถุดิบใบและต้นอ่อนจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของมะรุม

โดย: นางสาวประภัสสร สายสร้อย,นางสาวปวีณา แซ่ลี    ปีการศึกษา: 2560    กลุ่มที่: 33

อาจารย์ที่ปรึกษา: ปองทิพย์ สิทธิสาร , ปิยนุช โรจน์สง่า , สมนึก บุญสุภา    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

Keyword: มะรุม, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช, พฤกษเคมี, ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน, ฟีนอลิกรวม, ฟลาโวนอยด์รวม, Moringa oleifera Lam., Marum, Plant tissue culture, Phytochemistry, Antioxidant activity, Total phenolic, Total flavonoid
บทคัดย่อ:
สารสกัดเอทานอลของมะรุม (Moringa oleifera Lam.) ถูกเตรียมจากต้นอ่อนมะรุมที่ได้จากการเพาะเมล็ดในหลอดทดลอง (in vitro) โดยมี Murashige-Skoog (MS) medium เป็นอาหารเลี้ยง ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชแบบปราศจากเชื้อ และมี vermiculite เป็นวัสดุยึดเกาะ (supporter) ใน 2 สภาวะคือ สภาวะมีแสงเป็นเวลา 16 ชั่วโมง สลับกับไม่มีแสง 8 ชั่วโมง และไม่มีแสงตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน 5 ระยะ สารสกัดที่ได้จากการเพาะเมล็ดและจากวัตถุดิบใบและเมล็ดทั้งหมดถูกนำไปศึกษาทางพฤกษเคมี ทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในหลอดทดลอง และวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิกรวมและปริมาณฟลาโวนอยด์รวม โดยใช้วิธี DPPH radical scavenging assay, วิธี Folin-Ciocalteu และวิธี aluminium chloride ตามลำดับ จากการศึกษาทางพฤกษเคมีโดยใช้เทคนิค thin layer chromatography (TLC) พบว่า สารสกัดเอทานอลวัตถุดิบใบมีแถบสารตรงกับสารมาตรฐาน astragalin สารสกัดมะรุมส่วนใหญ่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในหลอดทดลอง โดยสารสกัดใบของต้นอ่อนมะรุมที่ปลูกในสภาวะควบคุมที่เลี้ยงโดยมี vermiculite เป็น supporter มีแสงเป็นเวลา 16 ชั่วโมง สลับกับไม่มีแสง 8 ชั่วโมง การเจริญเติบโตระยะ (stage) ที่ 5 (24 วัน) มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงที่สุด โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 140.35 ± 0.49 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ในการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสารสกัดมะรุมโดยใช้วิธี spectrophotometry พบว่า สารสกัดจากวัตถุดิบใบมะรุมมีปริมาณฟีนอลิกรวม และปริมาณฟลาโวนอยด์รวมมากที่สุด คือ 25.29 ± 2.64 g%chlorogenic acid equivalent (g%CAE) ในสารสกัด และ 2.12 ± 0.07 g%quercetin equivalent (g%QE) ในสารสกัด ตามลำดับ ผลที่ได้จากการศึกษานี้เป็นแนวทางในการพัฒนาวัตถุดิบของมะรุมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่อไปในอนาคต
abstract:
Ethanolic extracts of Marum (Moringa oleifera Lam.) sprouts, were prepared from seed samples at five different growth stages by in vitro cultivated using Murashige-Skoog (MS) as medium using sterile plant tissue culture technique and vermiculite as supporter in two conditions including 16 hours light photoperiod with 8 hours in the dark and 24 hours in the dark. All obtained extracts from the cultivated plant tissue culture and the leaves and seeds raw materials were phytochemically studied, determined for in vitro antioxidant activity and quantitative analyzed for total phenolic and total flavonoid contents using DPPH radical scavenging assay, Folin-Ciocalteu method and aluminium chloride method, respectively. From phytochemical study by thin layer chromatography (TLC) technique, it was found that ethanolic extracts from M. oleifera leaves showed chromatographic band corresponded to standard astragalin. Most M. oleifera extracts promoted in vitro antioxidant effects. Extract from the leaves of sprouts cultivated in controlled condition using vermiculite as supporter with 16 hours light photoperiod with 8 hours in the dark at fifth growth stage (24 days) exhibited the highest antioxidant effect with EC50 value of 140.35 ± 0.49 µg/ml. Quantitative analysis of phytochemical contents in M. oleifera leaf extracts determined by spectrophotometric methods revealed that extract from the leaves contained the highest total phenolic and flavonoid contents of 25.29 ± 2.64 g%chlorogenic acid equivalent (g%CAE) in extract and 2.12 ± 0.07 g%quercetin equivalent (g%QE) in extract, respectively. The results from this study is a guideline for development of M. oleifera raw materials with high potential for development of health products in the future.
.