การศึกษาคุณสมบัติของเพลเลตเม็ดแกนที่เตรียมมาจากแป้ง

โดย: นาย ธนชิต ประยูรพันธุ์รัตน์,นาย ประพล ตั้งวงศ์สถิตย์โชค    ปีการศึกษา: 2560    กลุ่มที่: 38

อาจารย์ที่ปรึกษา: ณัฐวุฒิ เจริญไทย , สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

Keyword: แป้ง, เพลเลต, คุณสมบัติของเพลเลตเม็ดแกน, เพลเลตเม็ดแกน, Starch, Pellet, Properties of starch core pellets, Core pellet
บทคัดย่อ:
การผลิตเพลเลตโดยใช้ fluidized bed bottom spray coater เป็นวิธีที่นิยมใช้เม็ดแกนเพลเลตที่เตรียมมาจากน้ำตาล หรือ ไมโครคริสตัลลีนเซลลูโลส (microcrystalline cellulose) ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาการผลิตเภสัชภัณฑ์ออกฤทธิ์นานชนิดหลายหน่วยที่ให้ทางปากโดยเตรียมเพลเลตด้วยวิธีเคลือบชั้นโดยใช้เม็ดแกนเพลเลตจากเม็ดสาคูที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง และเพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และคุณสมบัติการละลายของเพลเลตชนิดที่ใช้เม็ดแกนเพลเลตที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง โดยเริ่มจากการศึกษาเม็ดสาคูมาศึกษาความกร่อน (friability) ทดสอบหาความชื้น (loss on drying) ความกลม และการวิเคราะห์เนื้อสัมผัส (texture analyzer) ได้ผลว่าเม็ดสาคูขนาด 2.00-2.35 mm มีร้อยละค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์ของเส้นผ่านศูนย์กลางและพื้นที่ตกกระทบน้อยที่สุด จึงเลือกใช้เม็ดสาคูขนาด 2.00-2.35 mm เป็นเม็ดแกน แล้วจึงเตรียมยา theophylline extended release pellet โดยใช้ Eudragit® RL, Eudragit® RL:RS (1:1), Eudragit® RL:RS (9:1), Eudragit® RS นำมาวิเคราะห์ปริมาณยา theophylline ในยาที่เตรียม และคุณสมบัติการละลายตัว สรุปได้ว่า เม็ดสาคูที่เคลือบด้วย Eudragit® RL, Eudragit® RL:RS (9:1) มีอัตราในการปลดปล่อยยาเร็วที่สุด และเม็ดสาคูที่เคลือบด้วย Eudragit® RS มีอัตราในการปลดปล่อยยาช้าที่สุด โดยสามารถปรับอัตราเร็วในการปลดปล่อยยาออกจากเม็ดสาคูได้โดยการปรับอัตราส่วนระหว่าง Eudragit® RL และ Eudragit® RS ดังนั้นเม็ดสาคูสามารถใช้ในการผลิตยาเพลเลตชนิดออกฤทธิ์นานที่ให้ทางปากได้ อย่างไรก็ตามยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิเคราะห์การละลายของยาจากเพลเลตโดยเฉพาะช่วงเวลา 30 นาทีแรก และคาดหมายปริมาณการปลดปล่อยยาจากสมการการละลายของยากับความหนาของชั้นเคลือบ ผู้จัดทำจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการพิเศษฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเพลเลตเม็ดแกนที่เตรียมมาจากแป้ง
abstract:
Manufacturing of multiple unit pellets by using fluidized bed bottom spray coater usually use sugar or microcrystalline cellulose as core pellets but the problem is sugar or microcrystalline cellulose core pellets have to be imported from foreign countries. So, we have an idea to use starch core pellets in pharmaceutical industry. The physical properties, chemical properties and dissolution profile of extended release pellets using sago pearls as core pellets were studied. The physical properties of starch core pellets including friability, loss on drying and texture analyzer were investigated. The results showed that sago pearls which size of 2.00 to 2.35 mm had lowest percent relative standard deviation of diameter and area, so sago pearls with size of 2.00-2.35 mm were used as core pellet to manufacture theophylline extended release pellets by coating with Eudragit®RL, Eudragit® RL:RS (1:1), Eudragit® RL:RS (9:1), Eudragit®RS. Assay of theophylline in coated sago pearls and their dissolution profiles were studied. In conclusion, sago pearls coated with Eudragit® RL and Eudragit® RL:RS (9:1) showed the fastest drug release rate and sago pearls coated with Eudragit® RS exhibited the slowest drug release rate. The drug release rate could be modulated by adjusting ratio of Eudragit® RL and Eudragit®RS. Therefore, multiple unit pellets can be manufactured from sago pearls. However, further studies about dissolution profile especially in the first 30 min and prediction of drug release from an equation between %drug released, and coating level are needed. We really hope that this project can be the information for who is interested in the properties of starch core pellet.
.