ความเหมาะสมของขนาดยาพาราเซตามอลที่แพทย์สั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเด็ก ณ แผนกตรวจผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรามาธิบดี

โดย: ดวงรัตน์ นิยมไทย,ชุติกานต์ ดำสุวรรณ    ปีการศึกษา: 2543    กลุ่มที่: 40

อาจารย์ที่ปรึกษา: บุษบา จินดาวิจักษณ์ , สุวิมล ณ บางช้าง    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ยาพาราเซตามอล, ขนาดยาต่ำกว่าขนาดแนะนำ, ขนาดยาสูงกว่าขนาดแนะนำ, Paracetamol, underdose, overdose
บทคัดย่อ:
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหมาะสมของขนาดยาพาราเซตามอลที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเด็ก โดยทำการศึกษาจากใบสั่งยา ณ แผนกตรวจผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน–30 มิถุนายน 2543 ผลการศึกษาได้ใบสั่งยาจำนวน 854 ใบ พบใบสั่งยาที่มีความไม่เหมาะสมของขนาดยาพาราเซตามอลที่สั่งจ่ายจำนวน 268 ใบ คิดเป็นร้อยละ 30.0 จากจำนวนใบสั่งยาทั้งหมด จำแนกเป็นใบสั่งยาที่มีความไม่เหมาะสมซึ่งมีขนาดยาต่ำกว่าขนาดแนะนำจำนวน 255 ใบ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ในจำนวนนี้เป็นใบสั่งยาที่มีขนาดยาต่ำในระดับที่ไม่ให้ผลทางการรักษาจำนวน 57 ใบ คิดเป็นร้อยละ 22.4 และใบสั่งยาที่มีความไม่เหมาะสมซึ่งมีขนาดยาสูงกว่าขนาดแนะนำจำนวน 13 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.5 และใบสั่งยาทั้งหมดที่ขนาดยาสูงกว่าขนาดแนะนำไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับ นอกจากนี้พบว่ามีใบสั่งยาที่ให้ขนาดยาต่ำกว่าขนาดแนะนำโดยพบมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กอายุ มากกว่า 1 ปี เป็นจำนวน 61 ใบ คิดเป็นร้อยละ 33.3 และพบว่ามีใบสั่งยาที่ให้ขนาดยาสูงกว่าขนาดแนะนำโดยพบมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กอายุ มากกว่าหรือเท่ากับ 5 และ น้อยกว่า 12 ปี เป็นจำนวน 8 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.5 ประสบการณ์ของแพทย์ผู้สั่งจ่าย ช่วงเวลาที่ห้องยารับใบสั่งยา และจำนวนรายการยาต่อ 1 ใบสั่ง ไม่มีผลต่อความไม่เหมาะสมของขนาดยาพาราเซตามอลที่สั่งจ่าย เภสัชกรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เด่นชัด 2 ปัญหา คือ การไม่ระบุขนาดยาและรูปแบบยาไม่สอดคล้องกับขนาดยาที่สั่งจ่าย ทั้งนี้เภสัชกรสามารถแก้ไขใบสั่งได้ 2 ใบ คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของจำนวนใบสั่งยาทั้งหมดที่มีความไม่เหมาะสมของขนาดยาพาราเซตามอลที่สั่งจ่าย
abstract:
Dose appropriateness of paracetamol prescribed for pediatric patients were studied. The study was conducted by reviewing prescriptions from out patient department, Ramathibodi Hospital during 5 May 2000 - 30 May 2000. In total, there were 854 prescriptions. 0f these, 268 prescriptions (30 %) were dose inappropriateness. Underdose were found in 255 prescriptions (28.5 %), where 57 prescriptions (22.4 %) presented the dose that had no therapeutic effect. 0verdose were found in 13 prescriptions (1.5 %) but they had no risk of hepatotoxicity. The highest frequency of underdose was found in patient morethan 1 year (61 prescriptions, 33.3 %) and the highest frequency of overdose was found in patients more than or equal 5 and less than 12 years (8 prescriptions, 3.5 %). Dose inappropriateness were not associated with the experience of prescribers, the time that prescriptions reach the pharmacy, and the number of items per prescription. Pharmacists could solve problems in 2 prescriptions (0.8 %) that were unidentified dose and the dose unrelated to dosage form
.