ยาที่จ่ายโดยอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย: เบญจพร เลิศวิทยานนท์,ศิริพร ผดุงสุขสิร    ปีการศึกษา: 2544    กลุ่มที่: 45

อาจารย์ที่ปรึกษา: บุษบา จินดาวิจักษณ์ , อภินิต์ ทวีติยานนท์    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: รูปแบบการจ่ายยา, อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคหวัด, Format of drug dispensing, Pharmacy educator in Faculty of Pharmacy, Mahidol University,common cold
บทคัดย่อ:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและปัจจัยที่มีผลต่อการจ่ายยาของอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาโดยสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้น 2 กรณีศึกษา คือ โรคหวัดติดเชื้อในผู้ใหญ่และโรคหวัดติดเชื้อในเด็ก นำไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่มีหน้าที่ปฏิบัติการ ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้เลือกจ่ายยาที่มีในสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนเท่านั้น ผลการศึกษา พบว่าร้อยละ 90.6 ของอาจารย์ให้สัมภาษณ์ เป็นเพศชาย ร้อยละ 25.9 เป็นเพศหญิงร้อยละ 74.1 อาจารย์ร้อยละ 48.3 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี การจ่ายยาในกรณีศึกษาโรคหวัดติดเชื้อในผู้ใหญ่ พบว่าอาจารย์ร้อยละ 98.3 จ่ายยาแก้ปวด-ลดไข้โดยจ่ายเป็นพาราเซตามอลทั้งหมด ร้อยละ 96.6 จ่ายยาปฏิชีวนะโดยส่วนใหญ่จ่ายอะม้อกซี่ซิลลิน ร้อยละ 75.9 จ่ายยาลดน้ำมูกหรือแก้แพ้โดยส่วนใหญ่จ่ายยาสูตรผสมระหว่างไทรโปรลิดีนกับซูโดเอฟีดรีนและร้อยละ 41.4 จ่ายยาบรรเทาอาการไอโดยเลือกจ่ายเดกซ์โทรเมทอร์แฟนมากที่สุด ส่วนการจ่ายยาในกรณีศึกษาโรคหวัดติดเชื้อในเด็ก พบว่าร้อยละ 86.2 จ่ายยาแก้ปวด-ลดไข้โดยจ่ายเป็นพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมทั้งหมด ร้อยละ 10.3 จ่ายยาปฏิชีวนะโดยส่วนใหญ่จ่ายอะม้อกซี่ซิลลินชนิดน้ำเชื่อม จ่ายยาลดน้ำมูกหรือแก้แพ้ร้อยละ 79.3 และยาบรรเทาอาการไอร้อยละ 56.9 โดยส่วนใหญ่จ่ายยาน้ำที่มีสูตรผสมระหว่างยาลดน้ำมูกหรือแก้แพ้และยาบรรเทาอาการไอ คือ ยาน้ำเชื่อมที่มีสูตรผสมระหว่างคลอร์เฟนิรามีนกับแอมโมเนียมคลอไรด์และโซเดียมไซเตรท นอกจากนี้ พบว่า ความเชี่ยวชาญทางวิชาการและประสบการณ์การปฏิบัติงานในร้านยาแห่งอื่นที่ต่างกันของอาจารย์ไม่มีผลต่อรูปแบบการจ่ายยา
abstract:
The objective of this study was to identify the format of drug dispensing and factors influencing drug dispensing behaviour of Pharmacy educators, Faculty of Pharmacy, Mahidol University. Two scenarios of common cold with infection were developed, one was adult case and the other was pediatric case. Pharmacy educators who practice at drug store, Faculty of Pharmacy, Mahidol University were asked to read the two scenarios and dispensed drug which are supplied in the drug store, Faculty of Pharmacy, Mahidol University. The study showed that 90.6% of Pharmacy educators participated, which 25.9% were male and 74.1% were female, and 48.3% were between 41-50 years old. Drug dispensed in adult case were analgesic-antipyretic (98.3%) which all were paracetamol, antibiotic (96.6%) which mostly was amoxicillin, antihistamine (75.9%) which mostly were drugs formula composed of triprolidine and pseudoephedrine, and antitussive (41.4%) which mostly was dextromethorphan. Drug dispensed for pediatric case were analgesic-antipyretic (86.2%) which all were paracetamol syrup, antibiotic (10.3%) which mostly amoxicillin syrup , antihistamine (79.3%), and antitussive (56.9%), which mostly was syrup composed of chlorpheniramine, ammonium chloride, and sodium citrate . Different knowledge and experience to practice at other drug store were found in among Pharmacy educators but had no influence on drug dispensing.
.