การให้ความหมายของความเจ็บป่วยและการรักษาในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้เครื่องฟอกไต

โดย: ธาดาศักดิ์ ชวนประสิทธิ์, พงศ์ธัช กิจมานะวัฒน์    ปีการศึกษา: 2552    กลุ่มที่: 54

อาจารย์ที่ปรึกษา: มนทยา สุนันทิวัฒน์    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ความหมายของความเจ็บป่วย , ประสบการณ์ความเจ็บป่วย , ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง, Illness meanings, Illness experiences, Chronic renal failure patient
บทคัดย่อ:
งานวิจัยเชิงคุณภาพชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความหมายและประสบการณ์ของความเจ็บป่วย รวมถึงกระบวนการปรับตัวในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้เครื่องฟอกไต ผู้ให้ข้อมูลหลักในงานวิจัยนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องฟอกไตติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ของมูลนิธิโรคไต โรงพยาบาลสงฆ์ การศึกษานี้ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตระหว่างการสัมภาษณ์ ในการเข้าถึงกระบวนการให้ความหมายและประสบการณ์ของความเจ็บป่วย รวมถึงกระบวนการปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยได้ให้ความหมายและประสบการณ์ของความเจ็บป่วยรวมถึงกระบวนการปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันใน 3 ประเด็นหลัก คือการที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญและพยายามควบคุมกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับองค์ความรู้และวัตรปฏิบัติของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่แพทย์และพยาบาลเป็นผู้แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรลุซึ่งการมีศักยภาพในการทำงานเทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป ตามด้วยความพยายามในการนิยามความเจ็บป่วยและตัวผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องฟอกไตขึ้นใหม่ ว่ามีศักยภาพในการทำงานที่ดีกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเอดส์หรือโรคหัวใจ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับความเจ็บป่วยที่เรื้อรังได้เหมือนคนปกติ และสุดท้ายคือความพยายามในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายที่มีประสิทธิภาพ ผ่านความช่วยเหลือของมูลนิธิ และการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อเรียกร้องให้ขยายสิทธิในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังในทุกรูปแบบ ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และละเอียดอ่อน บุคลากรทางการแพทย์จึงควรเข้าใจความหมายของความเจ็บป่วย และกระบวนการปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอย่างลึกซึ้งและครอบคลุมด้วย
abstract:
The objective of this qualitative study was to understand illness meanings, illness experiences and everyday-life coping practices of patients with chronic renal failure using dialysis. The key informant was a patient with chronic renal failure experiencing consecutive five-year dialysis at The Kidney Foundation of Thailand, Priest Hospital. In-depth interview and observation were main techniques to reach and interpret patient’s illness meanings, illness experiences, and everyday-life coping strategies. Three vital processes were utilized by this patient to make sense of his illness meanings, illness experiences, and everyday-life coping activities and expectations. First, the patient focused on medical knowledge and self disciplining practices recommended by physicians and nurses in order to achieve his working potential at the same level of those who are normal. Second, process of redefining illness and recreating patient’s self were emphasized as the one carrying higher capability comparing with patients with cancer, AIDS, or heart diseases. This strategy was used to enhance patient’s spirit to live normally and smoothly with chronic illness. The final one was the attempt to increase accessibility to effective and all-inclusive health care system for chronic renal failure patients with the assistance of foundation and patient network. Thus, to attain the efficient, comprehensive, and sensitive healing practice, health professionals should realize illness meanings and everyday-life coping practices of the chronic renal patients deeply and completely.
.