รูปแบบการสั่งใช้ยาลาโคซาไมด์ ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาอาการชัก ในผู้ป่วยหนักทางอายุรกรรม

โดย: นางสาวณัชชา วิชิโต,นางสาวณัฏฐิตา กาญจนนิกร    ปีการศึกษา: 2560    กลุ่มที่: 58

อาจารย์ที่ปรึกษา: ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ , พิชญา ดิลกพัฒนมงคล , วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ, ภาวะชักต่อเนื่อง, อาการชักเฉียบพลัน, หออภิบาลผู้ป่วยหนักทางอายุรกรรม, intravenous lacosamide, status epilepticus, acute seizure, medical intensive care unit
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการสั่งใช้ยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาสำหรับการรักษาอาการชักในผู้ป่วยหนักทางอายุรกรรม โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจากฐานข้อมูลเวชระเบียนในผู้ป่วยที่เข้ารักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนักทางอายุรกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนถึงเดือนตุลาคม 2560 ผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำทั้งหมด 9 ราย มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการชักเฉียบพลัน ภาวะชักต่อเนื่องแบบเกร็งกระตุก และภาวะชักต่อเนื่องแบบไร้เกร็งกระตุกจำนวน 4, 3 และ 2 ราย ตามลำดับ ยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำถูกสั่งใช้เป็นยากันชักเสริมลำดับที่ 2-5 ผู้ป่วยทุกรายได้รับยาเริ่มต้นด้วย loading dose แล้วตามด้วย maintenance dose โดยมีค่าฐานนิยมเท่ากับ 200 มิลลิกรัม และ 200 มิลลิกรัม ตามลำดับ สำหรับผลลัพธ์การรักษาพบว่า 24 ชั่วโมง หลังได้รับการรักษาด้วยยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ป่วย 1 ราย ไม่มีอาการชักอีก 4 รายมีความถี่ของอาการชักลดลง 3 รายมีความถี่ของอาการชักเพิ่มขึ้น และ 1 ราย เสียชีวิต ทั้งนี้ ไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากยาเกิดขึ้น โดยสรุป ยาลาโคซาไมด์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำมีรูปแบบการสั่งใช้ที่หลากหลายในผู้ป่วยหนักทางอายุรกรรม โดยมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาอาการชักเฉียบพลันและภาวะชักต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาแบบไปข้างหน้าที่มีการสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประโยชน์ของยาในการรักษาอาการชักในผู้ป่วยหนักทางอายุกรรมต่อไป
abstract:
The purpose of this special project was to study prescribing pattern of intravenous (IV) lacosamide including efficacy and safety for the treatment of seizure in medical intensive care patients. Retrospective data collection from the medical record database of patients who were admitted to the intensive care unit of Ramathibodi Hospital from March 2015 to October 2017 was conducted. The result revealed that 9 patients were prescribed IV lacosamide. Therapeutic indications were acute seizure, convulsive status epilepticus and non-convulsive status epilepticus which had 4, 3 and 2 patients, respectively. IV lacosamide was prescribed as the second to the fifth adjunctive antiepileptic treatment. All patients were received initially loading dose and followed by maintenance dose which the mode were 200 mg and 200 mg, respectively. Concerning about clinical outcomes at 24-hour after treatment with IV lacosamide, there were 1 patient had seizure free, 4 patients had decreased in their seizure frequency, 3 patients had increased in seizure frequency, and 1 patient died. No adverse events were reported. In conclusion, intravenous lacosamide had a variety of prescribing patterns in medical critically ill patients while demonstrated its efficacy and safety in the treatment of acute seizures and status epilepticus. However, prospective, randomized controlled study should be conducted to confirm the benefit of intravenous lacosamide in the treatment of seizure in medical critically ill patients.  
.