การพัฒนาตำรับ tranexamic acid เพื่อเตรียมเป็น whitening agent

โดย: บุณฑริกา จงไกรรัตนกุล,สุพิชยา วงศ์กลม    ปีการศึกษา: 2543    กลุ่มที่: 9

อาจารย์ที่ปรึกษา: มัณฑนา ภาณุมาภรณ์ , พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: tranexamic acid, รอยคล้ำ, การทดสอบความระคายเคืองและการแพ้, อุลตราไวโอเลตเอ, โลชั่นอีมัลชั่น , Tranexamic acid, Skin pigmentation, Irritation test, Allergy test, Ultraviolet, Lotion emulsion, Medicated skin
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของ tranexamic acid ในการลดรอยคล้ำที่ผิวหนัง เริ่มต้นพัฒนาตำรับโลชั่นอีมัลชั่น 6 ตำรับ คัดเลือกโลชั่นพื้นที่เข้าเกณฑ์มาผสมกับตัวยาในความแรง 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ทดสอบชนิดของอีมัลชั่น, วัดความเป็นกรดด่าง, วัดความหนืด ที่ 30 องศาเซลเซียส และทดสอบความคงตัวทางกายภาพ คัดเลือกตำรับที่มีความคงตัวมาทดสอบความระคายเคืองและการแพ้ในอาสาสมัครหญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 20–25 ปี จำนวน 6 ราย ทดสอบฤทธิ์ในการลดรอยคล้ำบนแผ่นหลังอาสาสมัครชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 20-25 ปี จำนวน 10 ราย โดยทาโลชั่นยาปริมาณ 2 ไมโครลิตร/ตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 7 และ 3 วัน ทุกวัน เช้า–เย็นและ 30 นาที ก่อนฉายรังสีอุลตราไวโอเลตเอ (UV-A) ครั้งเดียวด้วยเครื่อง UVASUN 3000 unit นาน 26 นาที 40 วินาที เทียบกับผิวหนังเปล่า สังเกตรอยคล้ำทันที และหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง แปลผลทางสถิติโดยใช้ paired t-test ที่ระดับ อัลฟ่า = 0.05 จากผลการวิจัยพบว่ามีตำรับโลชั่นอีมัลชั่นชนิด o/w 3 ตำรับที่ผ่านการคัดเลือกคือ ตำรับที่ 2, 3 และ 6 ความเป็นกรดด่างของโลชั่นทั้ง 3 ตำรับ เท่ากับ 7.0 ความหนืดเฉลี่ยเท่ากับ 2,459, 1,014.4 และ 707.4 เซนติพอยส์ ตามลำดับ เมื่อทดสอบความคงตัวทางกายภาพพบว่าตำรับที่ 2 และ 3 แยกชั้น และตำรับที่ 6 คงตัว ผลการทดสอบฤทธิ์ลดรอยคล้ำของโลชั่นยาที่ทาแผ่นหลังไว้ล่วงหน้า 7, 3 วัน และ 30 นาที ก่อนฉายรังสี พบว่าจากการอ่านผลทันทีจะทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.07, 0.07 และ 0.08) ตามลำดับ และการอ่านผลหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ช่องที่ทายาทั้งสามช่องทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.40, 0.28 และ 0.06) ตามลำดับ เช่นเดียวกัน จากการวิจัยครั้งนี้พบว่าโลชั่น tranexamic acid 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรมีผลลดรอยคล้ำจากแสง UV-A ที่ฉายจากเครื่อง ในผิวหนังของอาสาสมัครชายอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
abstract:
The objective of this project was to study the efficacy of tranexamic acid 3 % w/v lotion emulsion in reducing skin pigmentation. Six lotion bases were developed.Formulations that met criteria were selected and incoperated with 3 % tranexamic acid. pH and viscosity of medicated lotions were measured and their physical stabilities were tested. Allergy and skin irritation tests were performed in 6 female healthy volunteers age 20 - 25. The efficacy of the medicinal lotion to reduce skin pigmentation was tested on the back of 10 male healthy volunteers age 20 - 25. 2 µL/cm2of medicated lotion was applied daily, morning and evening, for a period of 7, 3 days and 30 minutes before exposing to one dose UV-A radiation produced from UVASUN 3000 unit for duration of 26 minutes and 40 seconds. Immediate results and 2 - hours after were compared with control by using Microsoft Excel 97 paired t-test at alpha = 0.05.Results showed that medicinal lotions number 2, 3 and 6 are o/w, their pH equal to 7.0 and average viscosities are 2,459.0, 1,014.4 and 707.4 centipoises respectively. Medicated lotions number 2 and 3 exhibited phase separation after six freeze and thaw cyclings whereas number 6 was stable. Immediate* results of efficacy testing on 7, 3 days and 30 minutes medicated skin as well as at 2 hours** are insignificantly different from control ( * p = 0.07, 0.07 and 0.08; ** p = 0.40, 0.28 and 0.06 ) respectively. In conclusion, tranexamic acid 3 % w/v lotion has no statistical activity in reducing male healthy volunteers’ skin pigmentation from UV-A produced from radiation generator when compare with control.
.