หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tramadol ภัยร้ายที่คุณไม่รู้

โดย นศภ. ธีระภัทร ตั้งพูนทรัพย์ เผยแพร่ตั้งแต่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 -- 483,310 views
 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบข่าวปัญหายาเสพติดตามสื่อต่างๆ เป็นระยะๆ แม้จะมีกฎหมายออกมาควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีบุคคลที่พยายามนำพืชหรือยาที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดมาประยุกต์ใช้เพื่อเสพติด เช่น ใบกระท่อมนำมาผสมกับเครื่องดื่มหรือที่รู้จักในชื่อ “สี่คูณร้อย” และยาต่างๆ ได้แก่ ยานอนหลับ alprazolam ยารักษาภูมิแพ้ dimenhydramine ยาแก้ไอ codeine หรือแม้กระทั่งยาแก้ปวด tramadol ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้เพื่อเสพติด

Tramadol เป็นยาในกลุ่มโอพิออยด์ (opioids) ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน และสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทำให้ยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดได้ง่าย โดยนำยา tramadol ผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เป็นต้น หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่ผสมยา tramadol เข้าไปจะทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) จึงทำให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้ทุกวัน และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันจะทำให้มีความต้องการปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดอาการติดยา(addiction) ซึ่งนำไปสู่อาการถอนยาได้ หากไม่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย การติดยาดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตัวยา คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นมิวรีเซพเตอร์ (µ-receptor) ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ที่สมองมีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข และการติดยา1,2

ในทางการแพทย์ Tramadol ใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงเช่นเดียวกับมอร์ฟีน (morphine) โดยออกฤทธิ์กระตุ้นที่มิว รีเซปเตอร์ แต่เนื่องจากยาชนิดนี้ระงับอาการปวดได้น้อยกว่ามอร์ฟีน 5-20 เท่า จึงทำให้ยาชนิดนี้ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ นอกจากนี้ tramadol ยังออกฤทธิ์ระงับปวดปลายประสาท โดยออกฤทธิ์ยับยั้งตัวเก็บกลับสารสื่อประสาท (transporter) ชนิดซีโรโธนิน(serotonin) และ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine) ที่บริเวณปลายประสาท ทำให้บริเวณปลายประสาทมีปริมาณสารสื่อประสาททั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น จึงสามารถลดอาการปวดได้ ขนาดยาที่แนะนำสำหรับรักษาอาการปวด คือ 50-100 มิลลิกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง โดยขนาดยาสูงสุดที่แนะนำต่อหนึ่งวัน คือ400 มิลลิกรัม3, 4

ผลข้างเคียงของยา Tramadol พบได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน จนถึงรุนแรงระดับนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ชักกดศูนย์การหายใจของร่ายกาย หรือซีโรโธนินซินโดรม (serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลายๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูงและประสาทหลอน ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ โดยไม่รักษาจะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด2

จะเห็นได้ว่าการนำยา tramadol มาใช้เสพติดเพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มสุข เป็นอันตรายอย่างมากอาจถึงแก่ชีวิต เพราะฉะนั้นคงไม่คุ้มค่ากับการต้องแลกชีวิตเพียงเพื่อความสุขชั่วครู่ นอกจากทำลายสุขภาพแล้วการใช้ยานี้เพื่อการเสพติดอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งด้านครอบครัว สังคม และประเทศชาติตามมาอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Lolekha S, Youngchaiyud P, Himathongkam T, Kullavanijaya P, Buranakitjaroen, Nakornchai S, et al. MIMS Thailand 2014. 134th ed. กรุงเทพฯ: TIMS (Thailand) Ltd; 2014.
  2. Sally K, Guthrie LC, TheadiaLc. Substance-Related Disorders. In: Marie AC, Terry LS, Barbara GW, Patrick MM, Jill MK, Joseph TD, editors. Pharmacotherapy principle and practice. 2nd ed.United States of America: The McGraw-Hill Companies, Inc 2010; 607-30.
  3. ศศิกานต์ นิมมานรัชต์. ตำราความปวดและการระงับปวดในเวชปฏิบัติ.สงขลา: ชานเมืองการพิมพ์; 2554.
  4. Dana WJ, Fuller MA, Goldman MP, Golembiewski JA, Gonzales JP, Lowe JF, et al. Drug Information Handbook, 21st ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc 2012; 1080-2.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาเขียวเหลือง Tramadol opioids ระงับปวด ยาเขียว
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้