หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลากหลายวิธีรักษาท้องผูกอย่างได้ผล

โดย นศภ. โสพิศ กองปราบ เผยแพร่ตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 -- 435,603 views
 

ภาวะท้องผูกคืออะไร?1,2

ท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อย หมายถึง การที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ร่วมกับก้อนอุจจาระมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่ายออกมา คนที่มีท้องผูกอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระซึ่งมักต้องออกแรงเบ่ง ท้องอืดมีลมเยอะ แน่นท้องและรู้สึกว่าถ่ายไม่หมดรวมถึงถ่ายอุจจาระใช้เวลานาน

สาเหตุของภาวะท้องผูกคืออะไร?1,2

การทำความเข้าใจภาวะท้องผูกนั้น ควรทราบก่อนว่าลำไส้ใหญ่ทำงานอย่างไร ส่วนใหญ่สารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางลำไส้เล็กก่อนที่อาหารจะเดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เมื่ออาหารผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่น้ำจะถูกดูดซึมออกจากอาหารจนเหลือแต่กากอาหารที่จะกลายเป็นอุจจาระต่อไป ลำไส้ใหญ่จะบีบตัวเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวันเพื่อผลักดันให้อุจจาระเคลื่อนต่อไปยังไส้ตรงในที่สุด ขณะนั้นปริมาณน้ำจะถูกดูดซึมไปเกือบหมดทำให้อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนรูปร่างเหมือนไส้กรอกและง่ายต่อการขับถ่ายออกมา ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำออกมากเกินไปหรือกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่บีบตัวเชื่องช้าหรือเฉื่อยชา ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆ ส่งผลให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้งยิ่งขึ้น

สาเหตุของท้องผูกที่พบบ่อย ได้แก่ 1,2

  • การรับประทานอาหารไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอ
  • ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ)
  • ยาบางชนิด เช่น

- ยาระงับปวด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาระงับปวดที่เป็นสารเสพติด)

- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมและแคลเซียม

- ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด (ยากลุ่มยับยั้งแคลเซียม)

- ยารักษาโรคพาร์กินสัน

- ยาต้านปวดเกร็ง

- ยาต้านซึมเศร้า

- ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก

- ยาขับปัสสาวะ

- ยาต้านการชัก

  • กลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือกิจวัตร เช่น การตั้งครรภ์ อายุมาก การเดินทางท่องเที่ยว
  • การใช้ยาระบายไม่ถูกต้อง
  • การละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ
  • โรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้บ่อยที่สุด)
  • ปัญหาของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และการทำงานของลำไส้เอง (ภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ)

สามารถรักษาผู้ที่มีภาวะท้องผูกได้อย่างไร?

การรักษาเชิงพฤติกรรม1,2,4

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย1.5 ถึง 2.0 ลิตรต่อวัน การออกกำลังกายทุกวันในระดับน้อยถึงปานกลางอาจทำให้มีการเคลื่อนไหวของลำไสเพิ่มขึ้นได้ ไม่ควรละเลยหรือยับยั้งความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ ถ้าเป็นไปได้เมื่อรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระควรไปถ่ายทุกครั้ง การละเลยหรือยับยั้งความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระเป็นประจำ จะทำให้ปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายอุจจาระลดลงเกิดอาการท้องผูกได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก และหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายต่อเนื่องยาวนานโดยไม่จำเป็น

การฝึกให้มีนิสัยการขับถ่ายที่ดี การฝึกให้มีนิสัยการขับถ่ายที่ดีมีความสำคัญมาก ไม่ควรละเลยหรือยับยั้งไว้บ่อยๆ ควรฝึกให้ถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน พบว่าเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายอุจจาระควรเป็นหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ควรใช้ประโยชน์จาก gastrocolic reflex ซึ่งจะเกิดในช่วง 5-30 นาทีหลังมื้ออาหาร นอกจากนี้ควรให้เวลากับการถ่ายอุจจาระให้เพียงพอ ไม่ควรรีบเร่ง เช่น ถ้าช่วงเช้าเร่งรีบต้องออกจากบ้านควรเปลี่ยนเวลาตื่นนอนให้เร็วขึ้น เป็นต้น

ท่านั่งที่เหมาะสมกับการขับถ่ายอุจจาระ ท่านั่งขับถ่ายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายอุจจาระ ท่านั่งที่ถูกจะช่วยให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและไม่ล้า ท่าที่ควรนั่งขับถ่ายคือท่าประเภทนั่งยองหรืองอเข่า

อาหาร การรับประทานอาหารสม่ำเสมอและดื่มน้ำเพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี อาหารที่มีปริมาณเส้นใยเพียงพอ (20-35 กรัมต่อวัน) จะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม อย่างไรก็ตามการรับประทานเส้นใยอาหารปริมาณมากอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือมีแก็สเยอะได้ในบางคน พยายามเพิ่มเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายได้ง่าย (เส้นใยจากผัก ผลไม้ และข้าวโอ๊ต) ซึ้งดีกว่าประเภทที่ไม่ละลาย (เส้นใยจากเมล็ดธัญพืช) เริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งก้อนอุจจาระนิ่มลงและขับถ่ายบ่อยขึ้น แพทย์หรือนักโภชนาการสามารถจะช่วยวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมได้ อาจทราบปริมาณของเส้นใยมีหน่วยเป็นกรัมต่อมื้ออาหารที่รับประทานได้จากการอ่านข้อมูลข้างภาชนะบรรจุอาหารนั้นๆ อาหารบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ เช่น ลูกพรุน (ผลพลัมแห้ง) ผลมะเดื่อฝรั่ง ผลกีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล (molasses) สำหรับผู้ที่ท้องผูกง่ายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีเส้นใยหรือมีน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป

การรักษาด้วยการใช้ยา1,3,4

การรักษาภาวะท้องผูกขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาที่เป็น ส่วนใหญ่การปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมจะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ หากใช้วิธีง่ายๆ ดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล อาจลองใช้วิธีต่อไปนี้รักษา

เส้นใยหรือไฟเบอร์ การรับประทานเส้นใยเป็นวิธีที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด ยากลุ่มนี้มีประโยชน์ในรายที่ท้องผูกเนื่องจากรับประทานกากอาหารน้อย เส้นใยจะดูดน้ำให้อยู่ในลำไส้จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง ตัวอย่างยาได้แก่ agar (วุ้น), plantago seeds (พืชจำพวกเทียนเกล็ดหอย), bran (รำข้าว), prunes (ลูกพรุน) ยังรวมถึง methylcellulose, carboxymethylcellulose, polycarbophil ควรดื่มน้ำในปริมาณมากเพียงพอเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เส้นใยดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดกั้น ควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณเส้นใยที่รับประทานช้าๆเพื่อป้องกันท้องอืด มีลมในท้องหรือปวดเกร็ง

ยาระบาย โดยทั่วไปควรใช้ยาระบายเป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้ต่อเนื่องระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาระบายที่ออกฤทธิ์กระตุ้น อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ ผู้ที่ติดยาระบายจำเป็นต้องค่อยๆ หยุดยาช้าๆ หลังหยุดยาความสามารถในการบีบตัวของลำไส้จะกลับคืนมาได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยาระบายมีหลายชนิดให้เลือกตามกลไกการออกฤทธิ์ ความปลอดภัยโดยทั่วไปยาระบายอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้

ยาระบายกลุ่มกระตุ้น ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะๆ ตัวอย่าง เช่น senna (มะขามแขก), bisacodyl ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินความจำเป็น เช่น รับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำหรือใช้ยาในปริมาณมาก เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ออกฤทธิ์ดูดซึมทำให้สารน้ำไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ผ่านช่องทางพิเศษ จึงมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะท้องผูกชนิดไม่ทราบสาเหตุ เช่น polyethylene glycol, lactulose และ sorbitol โดยทั่วไปนิยมใช้ polyethylene glycol เพราะต่างจาก lactulose และ sorbitol ตรงที่ไม่ก่อให้เกิดแก็สหรือท้องอืด ส่วน sorbital นั้นให้ผลเช่นเดียวกับ lactulose แต่ราคาถูกกว่า แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการใช้ยานี้

ยาระบายกลุ่มเกลือ ออกฤทธิ์เหมือนฟองน้ำที่ดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อให้อุจจาระเคลื่อนตัวผ่านไปได้ง่ายคล้ายคลึงกับยาระบายกลุ่มออสโมซิส ตัวอย่าง เช่น magnesium hydroxide และ magnesium citrate ยาระบายกลุ่มนี้ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากการอุดกั้นของลำไส้

ยาเหน็บทวารและการสวนอุจจาระ นอกจากยาระบายจะมีรูปแบบการใช้เป็นยาแบบรับประทาน (ยาน้ำ ยาเม็ด ยาผง หรือยาแกรนูล) ยังมีในรูปแบบของยาเหน็บหรือยาสวนทวารซึ่งใช้โดยการสอดผ่านรูทวารเข้าไปในไส้ตรง แม้ว่าคนจำนวนมากไม่ชอบใช้ยารูปแบบนี้ แต่เป็นวิธีที่ให้ผลเร็วกว่าการรับประทาน เมื่อสอดเข้าไปในไส้ตรง ยาจะไปทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและทำให้ผนังของไส้ตรงหดตัวเพื่อขับอุจจาระออกมา การใช้ยาในเวลาเดิมของทุกวันอาจช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอ ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาดังกล่าวมาแล้ว อาจใช้ชุดสวนอุจจาระสำเร็จรูปที่มีเกลือ sodium phosphate/biphosphate (fleet) เป็นครั้งคราวได้ แต่ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ยกเว้นแพทย์สั่งให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์

ยาอื่นๆ

สารปลุกฤทธิ์คลอไรด์แชนแนลทำให้ลำไส้มีน้ำเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ดีจึงลดอาการของภาวะท้องผูกลง ตัวอย่าง เช่น lubiprostone เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาผู้ที่มีภาวะท้องผูกรุนแรงและสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยนานถึง 6-12 เดือน หลังจากนั้น แพทย์ควรประเมินถึงความจำเป็นในการใช้ยาต่อไป ยากลุ่มนี้มีราคาแพงเมื่อเทียบกับยาระบายอื่นๆ อย่างไรก็ตามอาจจำเป็นต้องใช้ยานี้หากใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ1,2 เช่น ไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback) และการผ่าตัด ซึ่งไบโอฟีดแบ็กเป็นการฝึกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักกายภาพบำบัด อาศัยเครื่องรับรู้ (sensor) ในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อโดยแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาจช่วยแก้ปัญหาในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะท้องผูกรุนแรงเรื้อรังจากปัญหากล้ามเนื้อบีบรัดและไม่ผ่อนคลายขณะขับถ่ายอุจจาระ ส่วนการผ่าตัด อาจช่วยแก้ปัญหาบริเวณไส้ตรงและทวารหนัก เช่น ไส้ตรงยื่นย้อย ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการยื่นของผิวเยื่อบุไส้ตรงผ่านรูทวารออกมาภายนอก การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออกอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากภาวะลำไส้ใหญ่เฉื่อย แม้ว่าการผ่าตัดนี้จะมีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องร่วง และกลั้นอุจจาระไม่อยู่

ข้อควรจำ

  • สาเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดของภาวะท้องผูกเกิดจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมของชีวิต ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องและขาดการออกกำลังกาย
  • สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ยาบางชนิด กลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน การใช้ยาระบายในทางที่ผิด และโรคจำเพาะบางโรค
  • การซักประวัติและการตรวจร่างกายทางการแพทย์อาจเป็นการทดสอบเดียวที่จำเป็นก่อนที่แพทย์จะเริ่มให้การรักษา
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะบรรเทาอาการลงได้และป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยการปฏิบัติตนตามแนวทางง่ายๆ ต่อไปนี้
  • รับประทานอาหารที่มีสมดุลและมีเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำง่าย ได้แก่ ผักและผลไม้สด
  • ดื่มน้ำปริมาณมากเพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ภายหลังอาหารมื้อเช้าหรือมื้อเย็นควรมีเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายโดยไม่ถูกรบกวน
  • อย่าเพิกเฉยเมื่อมีความรู้สึกปวดอยากขับถ่ายอุจจาระ
  • ตระหนักว่านิสัยการขับถ่ายปกตินั้นมีความแปรปรวนแตกต่างกัน
  • เมื่อใดที่นิสัยการขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเกิดต่อเนื่องยาวนาน ควรปรึกษาแพทย์

เอกสารอ้างอิง

1. International Urogynecological Association (IUGA). Constipation: A Guide for Women. 2012

2. World Gastroenterology Organisation Global Guidelines. Constipation: A global perspective. 2010

3. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. เภสัชวิทยา เล่ม 1 เรื่องยาระบายและยาถ่าย.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. 2540; 491-497

4. สมาคมประสาทและทางเดินอาหารและการเคลื่อนไหวแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรัง.กรุงเทพฯ; 2552


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ท้องผูก การรักษา ยาระบาย ไฟเบอร์ ยาระบาย
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้