หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การรับประทาน โอเมก้า 3 ดีเอชเอ อาจป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน เมษายน ปี 2556 -- อ่านแล้ว 20,626 ครั้ง
 
กรดไขมันโอเมก้า 3 ดีเอชเอ (omega-3 DHA) เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง จะต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร ซึ่งพบได้มากในปลาทะเลน้ำลึก อาจมีส่วนช่วยลดปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้มากในสหรัฐอเมริกาและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กแรกเกิด



นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัย Kansas Medical Center สหรัฐอเมริกาและคณะ ทำการศึกษาผลของการรับประทาน กรดไขมันโอเมก้า 3 ดีเอชเอ (omega-3 DHA) ระหว่างตั้งครรภ์ต่อการคลอดบุตร ในหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 8 ถึง 20 สัปดาห์ จำนวน 350 ราย ในกลุ่มแรกให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร algae-derived DHA วันละ 600 mg แบ่งให้วันละ 3 เวลา ติดต่อกันทุกวันจนกระทั่งคลอดบุตร ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอก



ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มที่ได้รับ DHA มีแนวโน้มที่จะให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า และมีกำหนดคลอดช้ากว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกประมาณ 3 วัน มารดาในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก พบว่ากว่าร้อยละ 5 คลอดก่อนกำหนด (ระยะเวลาตั้งครรภ์ต่ำกว่า 34 สัปดาห์) ในขณะที่มารดากลุ่มที่ได้รับ DHA พบการคลอดก่อนกำหนดต่ำกว่าร้อยละ 1 นอกจากนั้นคณะผู้ทำการศึกษา ทำการตรวจวัดระดับกรดไขมันในกระแสเลือดของมารดาและบุตร พบว่ามีเพียงกลุ่มที่ได้รับ DHA ระหว่างตั้งครรภ์ ที่มีปริมาณ DHA สูงขึ้น



มีการศึกษาก่อนหน้าในลักษณะเดียวกัน แต่ให้รับประทาน DHA เพียงวันละ 400 mg ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาในการตั้งครรภ์ระหว่างกลุ่มที่ได้รับ DHA และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ดังนั้นด้วยข้อมูลจากการศึกษาใหม่นี้ ผู้ศึกษาจึงแนะนำว่าขนาดที่จะทำให้เกิดผล ควรรับประทาน DHA อย่างน้อย 600 mg ต่อวัน



จากข้อมูลดังกล่าว หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ กรดไขมันโอเมก้า 3 ดีเอชเอ ที่เพียงพอต่อร่างกายและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยรับประทานปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตามการรับประทานปลาทะเล ควรระวังปลาบางชนิดที่อาจมีการสะสมของสารปรอทในเนื้อปลา เช่น ปลาแมคเคอเรล (mackerel) ปลากระโทงดาบ (swordfish) และ ปลาฉลาม เป็นต้น



อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาใดที่สรุปได้ว่าการรับประทาน DHA ระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์อย่างไร

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้