หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

New guideline ให้ความสำคัญกับการรักษาโรคอ้วนก่อนโรคอื่นที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2558 -- อ่านแล้ว 4,778 ครั้ง
 
ที่ผ่านมาหากมีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน (obesity) จะมุ่งความสนใจไปที่การรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยเหล่านั้นก่อนที่จะรักษาโรคอ้วน แต่แนวทางใหม่ที่เสนอโดย Endocrine Society ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก European Society of Endocrinology และ Obesity Society ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาโรคอ้วนก่อนโรคอื่นที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน ในการจะใช้ยาแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มและเลือกใช้ยาที่มีผลในการลดน้ำหนัก การมีน้ำหนักตัวลดลงจะช่วยควบคุมอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ซึ่งการมีน้ำหนักตัวลดลง 3% จะเห็นผลในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและหากน้ำหนักลดลง 5-10% จะเห็นผลในการช่วยลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่ม high-density lipoprotein (HDL) cholesterol และทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) หายไป

ในการรักษาโรคอ้วนหากมีการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ แนะนำให้ใช้ยาช่วยลดน้ำหนักควบคู่กันไป ในการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 (type 2 diabetes) แนะนำให้เริ่มด้วย metformin และหากจำเป็นให้เติมด้วยยาพวก glucagon-like peptide-1 (GLP-1) analogs ตามด้วย sodium-glucose-linked transporter-2 (SGLT-2) inhibitors มากกว่าที่จะให้ยาในกลุ่ม sulfonylureas หรือ insulin เนื่องจากยาเหล่านั้นให้ผลในการลดน้ำหนักได้ด้วย ในขณะที่ sulfonylureas หรือ insulin ทำให้น้ำหนักเพิ่ม หากผู้ป่วยโรคอ้วนใช้ยา insulin, sulfonylureas หรือ thiazolidinediones อยู่แล้ว แนะนำให้ค่อยๆ ลดยาเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนเป็นยาชนิดที่ไม่เพิ่มน้ำหนักตัว ในการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แนะนำให้เริ่มด้วยยากลุ่ม angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors หรือ angiotensin receptor blockers (ARBs) หรือ calcium channel blockers พร้อมทั้งให้หลีกเลี่ยงการใช้ยา beta-blockers และในผู้ป่วยที่ควบคุมโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจจะไม่ใช้ยาลดน้ำหนักพวก sympathomimetic agents (phentermine, diethylpropion) หากผู้ป่วยโรคอ้วนเป็นโรคอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) สามารถใช้ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) และ disease-modifying antirheumatic drugs (DMARDs) ได้ แต่ให้หลีกเลี่ยง corticosteroids เนื่องจากจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคอ้วนควรหลึกเลี่ยงยาในกลุ่ม selective serotonin-reuptake inhibitors (SSRIs) และหากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้อยู่แนะนำให้ค่อยๆ ลดยาแล้วเปลี่ยนเป็นยาชนิดที่ไม่เพิ่มน้ำหนักตัว

อ้างอิงจาก

(1) Endocrine Society proposes new obesity guidelines. http://www.firstreportnow.com/articles/endocrine-society-proposes-new-obesity-guidelines; (2) Apovian CM, Aronne LJ, Bessesen DH, McDonnell ME, Murad MH, Pagotto U, Ryan DH, Still CD. Pharmacological management of obesity: an endocrine society clinical practice guideline. J Clin Endocrinol Metab 2015;100:342-62.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Endocrine Society European Society of Endocrinology Obesity Society obesity high density lipoprotein cholesterol HDL sleep apnea type 2 diabetes metformin glucagon-like peptide-1 GLP-1 analog sodium-glucose-linked transporter-2 SGLT-2 inh
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้