หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Sodium thiosulphate มีประสิทธิภาพในการรักษา warfarin-induced calciphylaxis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กรกฎาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 3,321 ครั้ง
 

Calciphylaxis เป็นภาวะที่มีแคลเซียมเกาะหลอดเลือดจนเกิดอุดตันส่งผลให้มีการตายของเนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณนั้น เกิดขึ้นยากแต่เป็นอันตรายมากและมีอัตราตายสูง การใช้ warfarin ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ออกฤทธิ์เป็น vitamin K antagonist อาจทำให้เกิด calciphylaxis (warfarin-induced calciphylaxis) ดังข้อมูลที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “Warfarin กับความเสี่ยงต่อการเกิด calciphylaxis” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2559) ในการรักษา calciphylaxis ให้หยุดใช้ warfarin โดยเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน (กรณีที่เกิดจาก warfarin) ควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือดพร้อมทั้งให้การรักษาภาวะ hyperparathyroidism (กรณีที่เกิดจากการมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกิน) ทำ dialysis ในรายที่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทำความสะอาดบาดแผลและรักษาตามวิธีทั่วไป ให้ hyperbaric oxygen และให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาต้านจุลชีพ sodium thiosulphate เป็นต้น การรักษา calciphylaxis เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องการเห็นผลการรักษาเร็ว

Sodium thiosulphate เป็นยาที่มีใช้อยู่แล้ว เป็น antidote สำหรับ cyanide intoxication นอกจากนี้ยังใช้รักษา humoral calcinosis และ nephrolithiasis การนำยานี้มาใช้รักษา calciphylaxis (off-label use) เริ่มขึ้นราวปี 2004 ตลอดช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการใช้ยานี้รักษา calciphylaxis จากเหตุต่างๆ ได้ผลดีซึ่งรวมถึงกรณีที่เกิดจาก warfarin ด้วย (ดูรูป) สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของ sodium thiosulphate ในการรักษา calciphylaxis นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการช่วยกำจัดแคลเซียมโดยเกิด chelation ตลอดจนการช่วยป้องกันการเกิดผลึกแคลเซียมและการเกาะของแคลเซียมที่หลอดเลือด นอกจากนี้ยายังมีฤทธิ์ antioxidative และทำให้หลอดเลือดขยาย สิ่งเหล่านี้อาจช่วยทำให้ทุเลาอาการได้เร็ว ยานี้ให้เข้าหลอดเลือดดำ (intravenous infusion) ใช้เวลาให้ยา 30-60 นาที บางกรณีอาจให้ทางช่องท้อง มีการทดลองให้โดยการรับประทานและให้เข้าที่รอยโรคโดยตรงซึ่งผลการรักษายังไม่อาจสรุปได้ สำหรับขนาดยายังไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน ในผู้ที่ไตทำงานบกพร่องและทำ dialysis มีการให้ยาภายหลังการทำ dialysis แต่ละครั้งในขนาดตั้งแต่ 5 กรัมจนถึง 75 กรัม แต่ส่วนใหญ่ให้ขนาด 25 กรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งขนาดดังกล่าวนี้ให้ผลดีในการรักษา calciphylaxis จากยา warfarin ในผู้ที่ไตปกติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีการให้ยาต่างจากนี้ เช่น ในผู้ที่ทำ dialysis การให้ 25 กรัม 3 ครั้ง ในสัปดาห์แรก สัปดาห์ที่เหลือให้เพียง 12.5 กรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนต่อ sodium thiosulphate ได้ดี อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น คลื่นไส้ ผู้ที่ไตทำงานปกติไม่จำเป็นต้องติดตามผลทางห้องปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ ระยะเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการรักษาจะนานหลายเดือนและอาจนานเป็นปี

อ้างอิงจาก:

(1) Warfarin: reports of calciphylaxis. Drug Safety Update volume 9 issue 12 July 2016:1; (2) Huilaja L, Turpeinen M, Tokola H, Kauma H, Tasanen K, Ikäheimo R. Warfarin-induced calciphylaxis in patients with normal renal function. J Clin Pharm Ther 2016;41:449-52; (3) Hafiji J, Deegan P, Brais R, Norris P. Warfarin-induced calciphylaxis successfully treated with sodium thiosulphate. Australas J Dermatol 2013;54:133-5; (4) Yu Z, Gu L, Pang H, Fang Y, Yan H, Fang W. Sodium thiosulfate: an emerging treatment for calciphylaxis in dialysis patients. Case Rep Nephrol Dial 2015;5:77-82.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
calciphylaxis warfarin warfarin-induced calciphylaxis vitamin K antagonist hyperparathyroidism dialysis hyperbaric oxygen sodium thiosulfate antidote cyanide intoxication humoral calcinosis nephrolithiasis off-label use chelation antiox
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้