หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fluoroquinolones…เตือนอีกครั้งถึงความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเอ็นและระบบประสาท

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 11,323 ครั้ง
 
Fluoroquinolones เป็นยาต้านจุลชีพที่มีบทบาทมากในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (gram-positive bacteria) และแกรมลบ (gram-negative bacteria) อาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปเกิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี อย่างไรก็ตาม ภายหลังการวางจำหน่ายมีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดผลเสียต่อเอ็นโดยเกิดเอ็นอักเสบ (tendinitis) และเอ็นฉีก (tendon rupture) นอกจากนี้ยังอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเกิดความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) เส้นประสาทเกิดความเสียหาย (nerve damage) ผลเสียเหล่านี้อาจเกิดเร็วภายในไม่กี่ชัวโมงหรือหลายสัปดาห์หลังได้รับยา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว USFDA ได้ออกคำเตือนที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Fluoroquinolones กับความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อฯ...update” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2559) เมื่อต้นปีนี้ประเทศแคนาดาโดยองค์กร Health Canada ได้เตือนอีกในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากผลการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ fluoroquinolones ชนิดรับประทานและชนิดฉีด (ครอบคลุมถึง ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, norfloxacin และ ofloxacin) ประกอบกับรายงานที่ได้รับพบว่าการใช้ fluoroquinolones มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อเอ็นและระบบประสาท (เกิดโรคเส้นประสาทส่วนปลาย และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เวียนศีรษะ สับสน) อาจเกิดในระดับรุนแรงและเรื้อรัง แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก ขณะนี้องค์กร Health Canada ยังคงทำการศึกษาต่อไปอีกโดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการใช้ยา ในขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจเกิดผลเสียดังกล่าวไว้ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งมีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยดังนี้

- การสั่งใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้คำนึงถึงอาการไม่พึงประสงค์ของยาต่อเอ็นและระบบประสาทซึ่งอาจเกิดแบบรุนแรงและเรื้อรังได้

- หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้กับผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคยเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการใช้ยาในกลุ่มนี้

- หยุดการรักษาด้วยยาในกลุ่ม fluoroquinolones หากผู้ป่วยแจ้งว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รุนแรง และหากจำเป็นต้องให้การรักษาต่อ ควรเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาในกลุ่ม fluoroquinolones

- อาการไม่พึงประสงค์บางอย่างอาจเกิดเร็วภายในไม่กี่ชัวโมงหรือหลายสัปดาห์หลังได้รับยาในกลุ่ม fluoroquinolones

ส่วนในยุโรป European Medicines Agency (EMA) อยู่ระหว่างทบทวนถึงความปลอดภัยในการใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones และ quinolones ชนิดอื่นด้วยเช่นเดียวกัน (เริ่มเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งครอบคลุมถึง cinoxacin, ciprofloxacin, enoxacin, flumequine, levofloxacin, lomefloxacin, moxifloxacin, nalidixic acid, norfloxacin, ofloxacin, pefloxacin, pipemidic acid, prulifloxacin และ rufloxacin โดยเจาะจงเฉพาะยาที่ใช้โดยการสูด รับประทานและฉีด จะไม่รวมชนิดที่ใช้ภายนอกกับผิวหนังโดยตรงหรือชนิดที่ให้เฉพาะที่กับตาและหู เพื่อประเมินถึงความเรื้อรังของอาการข้างเคียงชนิดที่เกิดรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อและระบบประสาท อาการข้างเคียงเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยาเพื่อรักษาการติดเชื้อที่รุนแรงไม่มากนัก

อ้างอิงจาก:

(1) Health Canada. Fluoroquinolones - risk of disabling and persistent serious adverse reactions. http://healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2017/61900a-eng.php; (2) Health Canada. Information update - fluoroquinolone antibiotics may, in rare cases, cause persistent disabling side effects. http://healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2017/61920a-eng.php; (3) European Medicines Agency. EMA to review persistence of side effects known to occur with quinolone and fluoroquinolone antibiotics. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/Referrals_document/Quinolone_fluoroquinolone_31/Procedure_started/WC500221432.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fluoroquinolone ยาต้านจุลชีพ gram-positive bacteria (gram-negative bacteria tendinitis tendon rupture กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเส้นประสาทส่วนปลาย peripheral neuropathy nerve damage USFDA Health Canada ciprofloxacin levofloxacin moxifloxacin
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้