หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Interferon beta…เตือนอีกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและหลอดเลือดฝอย (thrombotic microangiopathy)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน เมษายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 4,233 ครั้ง
 
Interferon beta (IFN-ß) เป็นยาที่ใช้รักษา multiple sclerosis การใช้ยานี้อาจเสี่ยงต่ออันตรายจากการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและหลอดเลือดฝอย (thrombotic microangiopathy; TMA) โดยอาจเกิด thrombotic thrombocytopenic purpura (TTP) หรือ hemolytic uremic syndrome (HUS) คำเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 European Medicines Agency (EMA) ได้ให้ผลิตภ้ณฑ์ IFN-ß 1b ที่วางจำหน่ายจะต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวระบุไว้ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งมีคำแนะนำถึงการเฝ้าระวังอาการระยะต้น การรีบให้การรักษาโดยทันทีและการหยุดใช้ยา ในสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับปรุงเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ IFN-ß 1b ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 โดยให้มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อ TMA เช่นเดียวกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศญี่ปุ่นโดยหน่วยงาน Pharmaceuticals and Medical Devices Agency (PMDA) ได้แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบถึงรายงานที่เกี่ยวกับการเกิด TTP และ HUS ในผู้ป่วยที่ได้รับ IFN-ß 1b ที่เกิดขึ้นในประเทศญึ่ปุ่นและประเทศอื่น พร้อมทั้งมีข้อแนะนำให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ได้รับ IFN-ß 1b โดยการติดตามผลการตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การทดสอบเกล็ดเลือด หรือการนับเม็ดเลือดแดง และ/หรือการทดสอบการทำงานของไต ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งให้ผู้ผลิตปรับปรุงเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยให้เพิ่มคำเตือนถึงความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นไว้ด้วย

มีการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ถึงการใช้ IFN กับความเสี่ยงต่อการเกิด TMA ในสหราชอาณาจักร โดยศึกษาข้อมูลจากผู้ป่วย multiple sclerosis ที่ใช้ยา IFN-ß แล้วมีรายงานมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเกิด TMA เมื่อนำข้อมูลการใช้ยามาวิเคราะห์ทางคลินิกอย่างละเอียด พบว่าการใช้ IFN-ß มีความสัมพันธ์กับการเกิด TMA แบบแปรผันตามขนาดยา ในการศึกษานี้ยังได้ลงในรายละเอียดโดยทำ immunohistochemical analysis โดยใช้เนื้อเยื่อไต (renal biopsy) จากผู้ป่วย และการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยใช้ transgenic mouse model of type I IFN (IFN-α1) toxicity พบว่า IFN protein เองสามารถทำให้หลอดเลือดเล็กเสียหายได้โดยตรง (toxic drug-induced TMA) และยังพบว่าไม่เพียงแต่ IFN-ß เท่านั้น แต่ type I IFN (ทั้ง IFN-α และ IFN-ß ) ล้วนมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด TMA ได้

อ้างอิงจาก:

(1) Interferon beta-1b: thrombotic damage in small blood vessels. WHO Drug Information 2017;31:32; (2) PMDA Summary of investigation results--interferon beta-1b (genetical recombination), 10 January 2017. http://www.pmda.go.jp/files/000215798.pdf; (3) Interferon beta-1b. http://www.rxlist.com/extavia-drug.htm; (4) Kavanagh D, McGlasson S, Jury A, Williams J, Scolding N, Bellamy C, et al. Type I interferon causes thrombotic microangiopathy by a dose-dependent toxic effect on the microvasculature. Blood 2016;128:2824-33.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
interferon beta IFN multiple sclerosis ลิ่มเลือดในหลอดเลือด thrombotic microangiopathy TMA thrombotic thrombocytopenic purpura TTP hemolytic uremic syndrome HUS European Medicines Agency EMA IFN-ß 1b Pharmaceuticals and Medical Devi
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้