หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Finasteride กับภาวะซึมเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตาย

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 14,363 ครั้ง
 
Finasteride เป็น 5α-reductase-type-2 inhibitor (ออกฤทธิ์ยั้งเอนไซม์ 5α-reductase ชนิด type 2) จึงขัดขวางการเปลี่ยน testosterone ไปเป็น 5α-dihydrotestosterone (DHT) ซึ่งฮอร์โมนนี้มีความสำคัญต่อการเจริญและพัฒนาการของอวัยวะเพศชาย ยาในขนาด 1 มิลลิกรัมใช้รักษาภาวะศีรษะล้านในผู้ชาย (male pattern hair loss หรือ androgenetic alopecia) หากเป็นขนาด 5 มิลลิกรัมใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia; BPH) อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งต้ว ภาวะหลั่งน้อย (decreased volume of ejaculate) หรือการหลั่งบกพร่อง

เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ หน่วยงาน MHRA (the Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency) ในสหราชอาณาจักร (UK) แจ้งว่าได้รับรายงานถึงการเกิดภาวะซึมเศร้า (depression) และความคิดอยากฆ่าตัวตาย (แม้ว่าทั้งสองกรณีพบได้น้อย) ในผู้ที่ใช้ finasteride ขนาด 1 มิลลิกรัมที่ใช้รักษาภาวะศีรษะล้านในผู้ชาย นับตั้งแต่ finasteride ออกวางจำหน่ายหน่วยงาน MHRA ได้รับรายงานจำนวนหนึ่งแล้วที่เกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของยานี้ ในเบื้องต้นหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ข้อมูลและให้ข้อแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

- นับตั้งแต่ finasteride ออกวางจำหน่ายหน่วยงานได้รับรายงานจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ของยา ซึ่งคาดว่าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้นอาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าและความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายก็เป็นได้

- ให้แนะนำผู้ป่วยถึงการหยุดยา finasteride ขนาด 1 มิลลิกรัมทันทีหากเริ่มเกิดอาการซึมเศร้า พร้อมทั้งให้แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

- ระวังการใช้ finasteride ขนาด 5 มิลลิกรัมที่ใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วย เนื่องจากได้ระบุถึงภาวะซึมเศร้ารวมอยู่ในอาการไม่พึงประสงค์ของยาไว้แล้ว

ในกรณีที่ว่า finasteride ขนาด 5 มิลลิกรัมจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตายด้วยหรือไม่นั้น มีรายงานที่ศึกษาในประเทศแคนาดาและเพิ่งเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นเดียวกัน กล่าวถึงการศึกษาในผู้ชายที่ใช้ 5α-reductase-type-2 inhibitor (finasteride หรือ dutasteride) ใน Ontario ประเทศแคนาดา จำนวน 93,197 คน อายุ ≥66 ปี (ค่ากลาง 75 ปี) ที่เริ่มได้รับยา finasteride หรือ dutasteride ในช่วงปี 2003 ถึง 2013 ประเมินความเสี่ยงจากการใช้ยาต่อการฆ่าตัวตาย รวมถึงการทำร้ายตัวเอง (self-harm) และภาวะซึมเศร้าด้วย (สองกรณีหลังเป็น secondary outcome) ผลการศึกษาสรุปได้ว่ายาไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุดังกล่าว โดยพบการฆ่าตัวตาย 38 คนในกลุ่มที่ใช้ยาเทียบกับ 36 คนในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา (0.04%, 0.04% แต่ละกลุ่ม n = 93,197 คน) ส่วนกรณีการทำร้ายตัวเองพบได้ 169 คนเทียบกับ 130 คน (0.18%, 0.14% แต่ละกลุ่ม n = 93,197 คน) ภาวะซึมเศร้าพบได้ 1,750 คนเทียบกับ 1,231 คน (1.95%, 1.37% แต่ละกลุ่ม n =89,844 คน) เมื่อศึกษาในรายละเอียดโดยจำแนกตามระยะเวลาที่ใช้ยา พบว่าช่วง 18 เดือนแรกของการใช้ยามีความแตกต่างมากที่สุดระหว่างกลุ่มที่ใช้ยาเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองซึ่งกลุ่มที่ใช้ยามีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา 1.88 เท่า (p <0.01) หรือภาวะซึมเศร้าซึ่งกลุ่มที่ใช้ยามีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา 1.94 เท่า (p <0.01) แต่หลังพ้น 18 เดือนไปแล้วความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองไม่ต่างกัน แต่สำหรับภาวะซึมเศร้ากลุ่มที่ใช้ยายังมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา 1.22 เท่า (p <0.01) ผู้ทำการศึกษายังได้เปรียบเทียบกันเองระหว่างผู้ที่ใช้ finasteride เทียบกับ dutasteride พบว่าความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง และภาวะซึมเศร้ามีพอๆ กัน อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้ไม่มีข้อมูลถึงระดับความรุนแรงของความผิดปกติที่กล่าวมา

อ้างอิงจาก:

(1) Finasteride: rare reports of depression and suicidal thoughts. Drug Safety Update Volume 10 Issue 10, May 2017: 1; (2) Welk B, McArthur E, Ordon M, Anderson KK, Hayward J, Dixon S. Association of suicidality and depression with 5α-reductase inhibitors. JAMA Intern Med 2017;177:683-91 (3) Finasteride. http://www.rxlist.com/propecia-drug.htm & http://www.rxlist.com/proscar-drug.htm

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
finasteride 5α-reductase-type-2 inhibitor 5α-reductase testosterone 5α-dihydrotestosterone DHT ศีรษะล้าน male pattern hair loss androgenetic alopecia โรคต่อมลูกหมากโต benign prostatic hyperplasia BPH ความต้องการทางเพศลดลง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้