หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Peripherally acting mu-opioid receptor antagonists…ประสิทธิภาพในการรักษาโรคท้องผูกจากโอปิออยด์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2561 -- อ่านแล้ว 5,409 ครั้ง
 

โอปิออยด์ (opioids) มีบทบาทมากในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดเรื้อรัง ที่ทางเดินอาหารเมื่อโอปิออยด์จับกับ mu-opioid receptor จะลดการบีบตัวของลำไส้ในการขับไล่อาหาร ทำให้กากอาหารค้างอยู่ภายในช่องลำไส้นาน เพิ่มการดูดซึมน้ำเข้าสู่ร่างกายและเกิดท้องผูก การกระตุ้นที่ตัวรับนี้ยังเพิ่มการบีบรัดตัวของหูรูดทวารหนัก (anal sphincter) จึงลดการขับไล่อุจจาระออกจากบริเวณไส้ตรง ปัจจุบันแนวโน้มในการใช้ยากลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัญหาจากการใช้โอปิออยด์จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการติดยาเท่านั้น ยังมีปัญหาเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยาอีกด้วยซึ่งรวมถึงอาการท้องผูก (opioid-induced constipation) อาการท้องผูกนี้แม้ใช้ยาเป็นเวลานานก็ไม่เกิดความชิน (tolerance) กล่าวคืออาการท้องผูกไม่ได้เกิดลดลง ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคท้องผูกเรื้อรังจากโอปิออยด์ในผู้ป่วยที่ใช้โอปิออยด์เพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง (chronic non-cancer pain) ได้แก่ lubiprostone, linaclotide และยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เจาะจงในการต้านฤทธิ์โอปิออยด์นอกระบบประสาทส่วนกลาง (peripherally acting mu-opioid receptor antagonists) ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงต้านฤทธิ์โอปิออยด์เฉพาะที่ทางเดินอาหารโดยไม่รบกวนต่อฤทธิ์ระงับปวด ปัจจุบันมียาในกลุ่มนี้หลายชนิดที่วางจำหน่ายแล้ว เช่น methylnaltrexone, naloxegol, naldemedine (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Naldemedine...ยาใหม่ที่ใช้รักษาอาการท้องผูกจากโอปิออยด์ (opioid-induced constipation)” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1430) มีหลายการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ในการรักษาโรคท้องผูกจากโอปิออยด์ สำหรับ alvimopan แม้เป็นยาที่ต้านฤทธิ์โอปิออยด์ที่ทางเดินอาหารได้ แต่มีข้อบ่งใช้ในระยะสั้นเพื่อรักษาภาวะลำไส้ไม่เคลื่อนไหวหลังการผ่าตัด (post-operative ileus) ไม่ได้นำมาใช้รักษาโรคท้องผูกเรื้อรังจากโอปิออยด์ เนื่องจากยานี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (myocardial infarction) ได้หากใช้เป็นเวลานาน

เมื่อเร็วๆ นี้มีการศึกษาแบบ meta-analysis ที่นำข้อมูลมาจากการศึกษาที่เป็น randomized, controlled clinical trials เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรคท้องผูกจากโอปิออยด์ของยาในกลุ่ม peripherally acting mu-opioid receptor antagonists ได้แก่ alvimopan, methylnaltrexone, naloxegol และ naldemedine กับยาอื่น ได้แก่ lubriprostone และ prucalopride (ยานี้เป็น 5-HT4 receptor agonist ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคท้องผูกเรื้อรัง) ประเมินผลโดยดูจากการขับถ่ายอุจจาระได้โดยไม่ต้องใช้การรักษาอื่นช่วย (rescue-free bowel movements) ผลการศึกษาพบว่ายาทุกตัวมีประสิทธิภาพดีกว่ายาหลอกและในบรรดายาเหล่านี้ methylnaltrexone ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้ประสิทธิผลดีกว่ายาอื่น (ดูรูป)

อ้างอิงจาก

(1) Streicher JM, Bilsky EJ. Peripherally acting μ-opioid receptor antagonists for the treatment of opioid-related side effects: mechanism of action and clinical implications. J PharmPract 2017. doi: 10.1177/0897190017732263; (2) Murphy JA, Sheridan EA. Evidence based review of pharmacotherapy for opioid-induced constipation in noncancer pain. Ann Pharmacother 2018; 52:370-9; (3) Sridharan K, Sivaramakrishnan G. Drugs for treating opioid-induced constipation: a mixed treatment comparison network meta-analysis of randomized controlled clinical trials. J Pain Symptom Manage 2018; 55:468-79.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โอปิออยด์ opioids อาการปวดเฉียบพลัน อาการปวดเรื้อรัง mu-opioid receptor ท้องผูก anal sphincter opioid-induced constipation tolerance อาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง chronic non-cancer pain lubiprostone linaclotide periphera
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้