หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

NSAIDs...หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 12,622 ครั้ง
 
ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) เช่น aspirin, ibuprofen, naproxen, diclofenac, celecoxib เป็นยาที่มีการใช้กันแพร่หลาย มีข้อแนะนำอยู่แล้วให้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 30 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อหัวใจและการปิดของ ductus arteriosus ของทารกในครรภ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้หน่วยงาน FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขยายข้อแนะนำโดยให้หลีกเลี่ยงการใช้ NSAIDs กับผู้หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวได้ทบทวนข้อมูลจากแหล่งวิชาการต่าง ๆ รวมทั้ง case reports ที่ส่งมายังหน่วยงานจำนวน 35 รายงานด้วย ถึงการใช้ NSAIDs ช่วงตั้งครรภ์กับการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย (oligohydramnios) หรือความผิดปกติต่อไตทารกในครรภ์ซึ่งบางรายเสียชีวิตแรกคลอด (หมายเหตุ น้ำคร่ำเริ่มแรกสร้างมาจากพลาสมามารดา ราวสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์เมื่อไตทารกในครรภ์เริ่มทำงานจะขับปัสสาวะสู่น้ำคร่ำ หลังจากสัปดาห์ที่ 20 ไตทารกจะผลิตน้ำคร่ำเป็นส่วนใหญ่ ในน้ำคร่ำมีสารอาหารต่าง ๆ และยูเรีย น้ำคร่ำช่วยในการเจริญและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ปริมาตรน้ำคร่ำเปลี่ยนตามอายุทารกในครรภ์จนถึงราวสัปดาห์ที่ 25 ปริมาตรจะเริ่มคงที่ หากไตทารกในครรภ์เสียหายจะสร้างน้ำคร่ำน้อยลง) จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยจากการใช้ยา NSAIDs ส่วนใหญ่พบช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ตามหลายการศึกษาคาดการณ์ว่าอาจเกิดได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยเกิดในช่วงระยะเวลาที่ใช้ยาแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 48 ชั่วโมงไปถึงหลายสัปดาห์ การเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยนี้หลายรายกลับสู่ภาวะปกติภายใน 3-6 วันหลังมารดาหยุดยา และความผิดปกติกลับมาหากมีการใช้ NSAID ชนิดเดิมอีก จากข้อมูลดังกล่าวทำให้หน่วยงาน FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ NSAIDs ในผู้หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้ข้อมูลและข้อแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์สรุปได้ดังนี้

 การใช้ NSAIDs ช่วงตั้งครรภ์ตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป อาจเป็นอันตรายต่อไตทารกในครรภ์จนทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย และอาจทำให้ไตทารกแรกคลอดบางรายทำงานผิดปกติได้

 ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นเร็วใน 48 ชั่วโมงหลังจากมารดาเริ่มใช้ยา หรือเกิดหลังจากเริ่มใช้ยาหลายสัปดาห์

 ภาวะน้ำคร่ำน้อยมักกลับเป็นปกติได้หลังหยุดใช้ยาแต่ไม่เสมอไป หากเกิดยืดยื้ออาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่อการเจริญของปอดและแขนขาทารกในครรภ์ ตลอดจนทำให้ไตทารกแรกคลอดทำงานผิดปกติซึ่งบางรายถึงขั้นรุนแรงต้องล้างไต

 หากมารดาจำเป็นต้องใช้ NSAIDs ช่วงตั้งครรภ์ 20-30 สัปดาห์ ให้ใช้ขนาดต่ำสุดที่ได้ผลและใช้เป็นเวลาสั้นที่สุด ส่วนการใช้ช่วงตั้งครรภ์หลัง 30 สัปดาห์นั้นได้มีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

 ข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้นไม่ครอบคลุมแอสไพรินในขนาดต่ำ (ช่วง 60-100 มิลลิกรัม) ที่ใช้รักษาความผิดปกติบางอย่างของการตั้งครรภ์ (เช่น การแท้งบุตรง่าย ความผิดปกติเกี่ยวกับการเกิดลิ่ม ภาวะครรภ์เป็นพิษ)

 ติดตามปริมาณน้ำคร่ำด้วยวิธีทางอัลตราซาวน์หากมารดาต้องใช้ NSAIDs นานกว่า 48 ชั่วโมง และหยุดยาหากเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยพร้อมทั้งติดตามอาการทางคลินิก

อ้างอิงจาก:

(1) Dathe K, Hultzsch S, Pritchard LW, Schaefer C. Risk estimation of fetal adverse effects after short-term second trimester exposure to non-steroidal anti-inflammatory drugs: a literature review. Eur J Clin Pharmacol 2019;75:1347-53; (2) USFDA. FDA recommends avoiding use of NSAIDs in pregnancy at 20 weeks or later because they can result in low amniotic fluid. 10-15-2020 FDA Drug Safety Communication. https://www.fda.gov/media/142967/download
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้