หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fluoroquinolones กับความเสี่ยงต่อลิ้นหัวใจรั่ว (heart valve regurgitation)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มกราคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 2,450 ครั้ง
 
Fluoroquinolones เป็นยาต้านจุลชีพที่มีบทบาทมากในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (gram-positive bacteria) และแกรมลบ (gram-negative bacteria) มียามากมายในกลุ่มนี้ เช่น ciprofloxacin, delafloxacin, gemifloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, norfloxacin, ofloxacin โดยทั่วไปผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีคำเตือนเพิ่มเติมออกมาเป็นระยะ ๆ ถึงผลไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเอ็นอักเสบ (tendinitis) และเอ็นฉีก (tendon rupture), ความเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis), ความเสี่ยงต่อโรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy), ความเสี่ยงต่อผลเสียที่เกิดกับเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทส่วนกลาง ที่เพิ่มจากเดิม, ความเสี่ยงต่อการมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ และความเสี่ยงต่อเอออร์ตาโป่งพอง (aortic aneurysm) และฉีก เมื่อเร็ว ๆ นี้ในยุโรปได้มีคำเตือนถึงความเสี่ยงต่อลิ้นหัวใจรั่ว (heart valve regurgitation) เนื่องจากผลการทบทวนข้อมูลด้านระบาดวิทยาที่เป็น retrospective case-control study พบความสัมพันธ์ของการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว (ทั้ง mitral valve และ aortic valve) ในผู้ที่ใช้ fluoroquinolones ชนิดรับประทาน ซึ่งค่า adjusted rate ratio (ผู้ที่อยู่ระหว่างใช้ยา) ของ fluoroquinolones เทียบกับ amoxicillin เท่ากับ 2.40 (95% CI 1.82-3.16) และเทียบกับ azithromycin เท่ากับ 1.75 (95% CI 1.34-2.29) ส่วนข้อมูลที่เคยศึกษาในสัตว์ทดลอง (non-clinical study) พบว่า ciprofloxacin เพิ่มการทำลายคอลลาเจนในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ การศึกษาเหล่านี้แสดงถึงว่า fluoroquinolones ชนิดรับประทาน ชนิดฉีดและชนิดสูด (inhaled fluoroquinolones) อาจมีผลทำให้เกิดลิ้นหัวใจรั่ว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดลิ้นหัวใจรั่วอยู่ก่อนแล้ว ผลจากการศึกษานี้ในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency ได้มีการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์สรุปได้ดังนี้

- fluoroquinolones มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดฉีดและชนิดสูด ใช้ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

- fluoroquinolones ชนิดรับประทาน ชนิดฉีดและชนิดสูด มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อลิ้นหัวใจรั่วได้เล็กน้อย ข้อมูลจากการศึกษาหนึ่งซึ่งเป็น retrospective case-control study คาดว่าความเสี่ยง (relative risk) จากการใช้ fluoroquinolones ชนิดรับประทานเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าเทียบกับการใช้ amoxicillin หรือ azithromycin

- ควรใช้ fluoroquinolones ต่อเมื่อได้ผ่านการประเมิน benefit-risk อย่างรอบคอบแล้ว ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรผ่านการพิจารณาหายาทางเลือกอื่นมาแล้ว ได้แก่—ผู้ป่วยที่มี congenital heart valve disease หรือ pre-existing heart valve disease, ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น Marfan syndrome, Ehlers-Danlos syndrome), ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอื่นที่จะเกิดลิ้นหัวใจรั่ว (เช่น โรคความดันโลหิตสูง, Turner’s syndrome, Behçet’s disease, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ)

- ให้คำแนะนำผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง (ดังกล่าวข้างต้น) ให้ระวังถึงความผิดปกติที่ต้องรีบเข้ารับการวินิจฉัย ได้แก่—มีการหายใจถี่หรือหอบโดยเฉพาะเมื่อนอนราบ, ข้อเท้าบวม เท้าบวม หรือท้องบวม, อาการใจสั่นที่เพิ่งเกิดขึ้น

อ้างอิงจาก:

(1) Systemic and inhaled fluoroquinolones: small risk of heart valve regurgitation; consider other therapeutic options first in patients at risk. Drug Safety Update volume 14, issue 5: December 2020: 1; (2) Etminan M, Sodhi M, Ganjizadeh-Zavareh S, Carleton B, Kezouh A, Brophy JM. Oral fluoroquinolones and risk of mitral and aortic regurgitation. J Am Coll Cardiol 2019; 74:1444-50.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้