หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Monoclonal antibodies…antivirals สำหรับรักษาโควิด-19

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กันยายน ปี 2564 -- อ่านแล้ว 9,291 ครั้ง
 
แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นวิธีป้องกันโควิด-19 ทื่จัดว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่มีคนจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนยังไม่ครบหรือได้รับครบแล้วแต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่ หากได้รับเชื้ออาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค ทำให้บางประเทศมีการอนุญาตให้ใช้ยาต้านไวรัสที่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียน (unapproved product) และยังอยู่ในการศึกษาทางคลินิกให้สามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) แบบชั่วคราวได้ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำยา monoclonal antibody มาใช้หลายชนิด เช่น casirivimab, imdevimab, sotrovimab, bamlanivimab, etesevimab โดยยาบางชนิดแนะนำให้ใช้ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่นยาที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ ซึ่งยาเหล่านี้ใช้รักษาโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม ที่ตรวจพบเชื้อ (direct SARS-CoV-2 viral testing) โดยมีอาการระดับอ่อนจนถึงระดับปานกลาง แต่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะรุดหน้าสู่ความรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ไม่ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักอยู่แล้วซึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือผู้ที่ต้องให้ออกซิเจน

-Casirivimab ร่วมกับ imdevimab ยาชนิดแรกเป็น human IgG1κ monoclonal antibody ส่วนยาชนิดหลังเป็น human IgG1λ monoclonal antibody ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ spike protein receptor binding domain (RBD) ของ SARS-CoV-2 คนละตำแหน่ง (และเป็น non-overlapping epitopes) ทำให้ขัดขวางการจับระหว่าง RBD กับ angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ที่ระบบทางเดินหายใจของคน ยาทั้งสองชนิดนี้ยังอนุญาตให้ใช้ในกรณี post-exposure prophylaxis ในผู้ที่ได้รับประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอจากการฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 สัปดาห์ หรือผู้ที่คาดว่าน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ เช่นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ยาดังกล่าวไม่ใช้ในกรณี pre-exposure prophylaxis และไม่อาจทดแทนการฉีดวัคซีน ขนาดยาที่ใช้เพื่อการรักษา (ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม) คือให้ casirivimab 600 มิลลิกรัมร่วมกับ imdevimab 600 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือให้เข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion (ให้พร้อมกัน) ควรให้โดยเร็วหลังตรวจพบผลบวกจาก direct SARS-CoV-2 viral testing ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วันหลังเริ่มมีอาการ ส่วนขนาดยาที่ใช้ในกรณี post-exposure prophylaxis (ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม) คือให้ casirivimab 600 มิลลิกรัมร่วมกับ imdevimab 600 มิลลิกรัมโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือให้เข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion ควรรีบให้โดยเร็วภายหลังสัมผัส SARS-CoV-2 และหากต้องสัมผัสกับ SARS-CoV-2 เป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์หรือผู้ที่คาดว่าการฉีดวัคซีนจะสร้างภูมิต้านทานไม่เพียงพอ ให้ยาซ้ำได้ทุก 4 สัปดาห์ ในขนาด casirivimab 300 มิลลิกรัมร่วมกับ imdevimab 300 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือให้เข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion

-Sotrovimab เป็น human IgG1κ monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ RBD (ที่ conserved epitope) และขัดขวางไม่ให้ไวรัสผ่านเซลล์เมมเบรนที่ทางเดินหายใจ (ยาไม่ได้ขัดขวางการจับระหว่าง RBD กับ ACE2 receptor) ขนาดยาที่ใช้ (ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม) คือ 500 มิลลิกรัม ภายหลังเจือจางแล้วโดยให้เข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion ใช้เวลาให้ยานาน 30 นาที ควรให้โดยเร็วหลังตรวจพบผลบวกจาก direct SARS-CoV-2 viral testing ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วันหลังเริ่มมีอาการ

-Bamlanivimab ร่วมกับ etesevimab ยาทั้งสองชนิดเป็น human IgG1κ monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ RBD คนละตำแหน่ง (แต่เป็น overlapping epitopes) ยาจะขัดขวางการจับระหว่าง RBD กับ ACE2 receptor การใช้ยาร่วมกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อเชื้อที่ดื้อยา อย่างไรก็ตามยาทั้งสองนี้ให้ผลไม่ดีในการรักษาโควิด-19 จากเชื้อสายพันธุ์ Gamma (P.1) และ Beta (B.1.351) ขนาดยาที่ใช้ (ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม) คือให้ bamlanivimab 700 มิลลิกรัมร่วมกับ etesevimab 1,400 มิลลิกรัม ภายหลังเจือจางแล้วโดยให้เข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion (ให้พร้อมกัน) ควรให้โดยเร็วหลังตรวจพบผลบวกจาก direct SARS-CoV-2 viral testing ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วันหลังเริ่มมีอาการ

ด้านผลไม่พึงประสงค์ของยาดังกล่าวข้างต้นพบได้คล้ายคลึงกัน ในกรณีที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบรอยช้ำและแดงตรงตำแหน่งที่ฉีด (รวมถึงอาการอื่น) ส่วนกรณีที่ให้ยาทางหลอดเลือดดำพบ infusion-related reactions รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ หายใจลำบาก อ่อนล้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ผื่นขึ้น คัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อ้างอิงจาก:

(1) Fact sheet for health care providers emergency use authorization (EUA) of Regen-covtm (casirivimab and imdevimab). https://www.regeneron.com/downloads/treatment-covid19-eua-fact-sheet-for-hcp.pdf; (2) Fact sheet for healthcare providers emergency use authorization (EUA) of sotrovimab. https://www.fda.gov/media/149534/download; (3) Fact sheet for health care providers emergency use authorization (EUA) of bamlanivimab and etesevimab. https://www.fda.gov/media/145802/download
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้