หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Difelikefalin...kappa opioid receptor agonist รักษาอาการคันในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2564 -- อ่านแล้ว 2,373 ครั้ง
 
อาการคัน (pruritis) พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ที่ทำ dialysis อาการคันในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอาจเรียกว่า “uremic pruritus” อย่างไรก็ตามอาการคันที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะ uremia จึงมีการใช้คำว่า “chronic kidney disease-associated pruritus หรือ CKD-aP” กันมากขึ้น อาการคันดังกล่าวพบได้ 20-90% ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่ยังไม่ทราบแน่ชัด เช่น ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน, ภาวะผิวแห้ง (xerosis), การสะสม toxic metabolites (uremic toxins), ระบบประสาททำงานผิดปกติ (neural dysfunction), การเพิ่มจำนวน mast cells (ทำให้หลั่งฮีสตามีนเพิ่มขึ้น), การกระตุ้น mu opioid system ซึ่งประการหลังนี้พบว่าฤทธิ์มอร์ฟีนที่กระตุ้น mu opioid receptor ทำให้เกิดอาการคันได้ ส่วนการกระตุ้นที่ kappa opioid receptor จะยับยั้งอาการคัน เมื่อเร็ว ๆ นี้มียา difelikefalin ซึ่งเลือกออกฤทธิ์กระตุ้น kappa opioid receptor นอกระบบประสาทส่วนกลางออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ ใช้รักษาอาการคันระดับปานกลางถึงรุนแรงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำ hemodialysis โดยใช้กับผู้ใหญ่ ผลิตในรูปยาฉีดน้ำใสที่มีตัวยา 65 ไมโครกรัม/1.3 มิลลิลิตร บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดที่แนะนำคือ 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียว (intravenous bolus injection) ภายหลังการทำ hemodialysis แต่ละครั้ง

การศึกษาที่มาสนับสนุนประสิทธิภาพของยาเป็นการศึกษาแบบ randomized, multicenter, double-blind, placebo-controlled trial จำนวน 2 การศึกษา ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีอาการคันระดับปานกลางถึงรุนแรงและอยู่ระหว่างการทำ hemodialysis จำนวน 851 คน ได้รับ difelikefalin ในขนาด 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม หรือยาหลอก (1:1) โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียว ภายหลังการทำ hemodialysis จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ศึกษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินอาการคันโดยผู้ป่วยเองด้วย Worst Itching Intensity Numerical Rating Scale (WI-NRS) score ใน 24 ชั่วโมง (คะแนน 0 = ไม่คันและคะแนน 10 = คันที่สุด) ค่าเฉลี่ยเริ่มต้นของ WI-NRS score ในการศึกษาที่ 1 (n=378) เท่ากับ 7.1 ส่วนการศึกษาที่ 2 (n=473) เท่ากับ 7.2 อนุญาตให้ใช้ยาบรรเทาอาการคันที่ใช้อยู่ก่อนได้รวมถึง sedating antihistamines ประเมินประสิทธิภาพของยาในสัปดาห์ที่ 12 ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของ WI-NRS score ใน 24 ชั่วโมงที่ลดลงจาก baseline ไม่น้อยกว่า 4 คะแนน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่ากลุ่มยาหลอกในทั้งสองการศึกษา โดยในการศึกษาที่ 1 มี 40% เทียบกับ 21% และการศึกษาที่ 2 มี 37% เทียบกับ 26% ส่วนผลไม่พึงประสงค์ของ difelikefalin ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥2% และพบได้ ≥1% เทียบกับยาหลอก) ได้แก่ ท้องเดิน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีความผิดปกติในการเดิน (รวมทั้งการหกล้ม) ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ปวดศีรษะ ง่วง สภาพจิตเปลี่ยนแปลง

อ้างอิงจาก:

(1) Korsuva (difelikefalin) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4845240, revised: 08/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/214916s000lbl.pdf; (2) Agarwal P, Garg V, Karagaiah P, Szepietowski JC, Grabbe S, Goldust M. Chronic kidney disease-associated pruritus. Toxins 2021. doi: 10.3390/toxins13080527; (3) Trachtenberg AJ, Collister D, Rigatto C. Recent advances in the treatment of uremic pruritus. Curr Opin Nephrol Hypertens 2020;29:465-70.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้