หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Metoclopramide vs. Promethazine for Hyperemesis Gravidarum

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 5 เดือน พฤษภาคม ปี 2553 -- อ่านแล้ว 8,603 ครั้ง
 
แนวทางการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ของ American College of Obstetricians and Gynecologists ในปี ค.ศ. 2004 ระบุให้ใช้ dimenhydrinate, metoclopramide หรือ promethazine ชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV) เป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษาผู้หญิงที่มีการสูญเสียน้ำในร่างกาย (dehydrate) จากการอาเจียนเนื่องด้วยภาวะ hyperemesis gravidarum (HG) หรือที่เรียกว่า “ภาวะแพ้ท้องที่รุนแรง”



จากแนวทางการรักษาดังกล่าวได้มีนักวิจัยทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพของยา promethazine และ metoclopramide ชนิดฉีดสำหรับการรักษาภาวะ HG โดยใช้รูปแบบการศึกษาแบบ intent-to-treat, randomized, double-blind trial มีกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้หญิงชาวมาเลเซียทั้งหมด 149 รายที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยและได้รับการรักษาภาวะ HG ด้วยยาฉีด promethazine (25 มก. ทุก 8 ชั่วโมง) หรือยาฉีด metoclopramide (10 มก. ทุก 8 ชั่วโมง) โดยวัดผลจากจำนวนการอาเจียนที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการรักษา



ผลการศึกษาที่ได้พบว่าจำนวนครั้งของการอาเจียนของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน และพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา promethazine บ่อยกว่า metoclopramide (ง่วงซึม: 84% vs. 59%; มึนงง: 71% vs. 34% และ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (dystonia): 19% vs. 6%) ในขณะที่อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ ปากแห้ง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ใจสั่น และ เป็นผื่นที่ผิวหนัง ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วย 3 รายที่หยุดการรักษาด้วยยา promethazine เนื่องจากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด



เมื่อเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2009 องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) ทำการแจ้งเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการถูกทำลายของเนื้อเยื่อรวมถึงการตายของเนื้อเยื่อ (gangrene) จากการฉีดยา promethazine ไว้ ประกอบกับข้อมูลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ยา metoclopramide มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยา promethazine และผู้ป่วยทนต่อยาได้มากกว่า อีกทั้งข้อมูลจากการศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศอิสราเอลยังแสดงให้เห็นว่าการใช้ยา metoclopramide ในหญิงตั้งครรภ์ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดทารกวิกลรูป (malformation) ที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ยาฉีด metoclopramide น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะ HG

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้