หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โคเลสเตอรอล 300 ไตรกรีเซอไร 500 ตอนนี้ทานนำมันปลา 1000 mg และถ้าจะทาน 10 mg simvastatin ร่วมด้วยไม่ทราบว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ครับ

ถามโดย เรวัช เผยแพร่ตั้งแต่ 28/09/2009-23:38:14 -- 10,154 views
 

คำตอบ

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) เป็นภาวะที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้หลายอย่าง เช่น การเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (aterosclerosis) ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโรคได้ 3 ชนิด คือ โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) และโรคหลอดเลือดแดงรอบนอก (Peripheral arterial disease) ไขมันในเลือดที่ตรวจได้มีหลายชนิด โดยชนิดที่นิยมตรวจกันเพื่อใช้ในการวินิจฉัยหรือพิจารณาการรักษาภาวะ dyslipdemia ได้แก่ - Cholesterol คือ สารไขมันคล้ายขี้ผึ้งที่ปรากฏอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย โคเลสเตอรอลบางชนิด จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบ ของผนังเซลล์ในร่างกาย และเป็น ส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นของร่างกาย - Triglyceride เป็นไขมันอีกประเภทหนึ่งในกระแสเลือด เปรียบเสมือน \"ผู้ช่วยผู้ร้าย\" คนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง พร้อมกับระดับHDLต่ำ หรือ LDLสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ - Low density lipoprotein (LDL) เป็นรูปแบบของการรวมกันของไขมัน เช่น cholesterol หรือ triglyceride จับกับโปรตีนที่อยู่ในเลือด โดย LDL จะทำหน้าที่ในการขนส่งไขมันที่สร้างจากตับไปยังเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย ดังนั้นหากในกระแสเลือดมี LDL มากจะขนส่ง cholesterol ไปตามกระแสเลือดได้มาก และ cholesterol เหล่านี้สามารถที่จะจับกับเซลล์ของกล้ามเนื้อหลอดเลือดแดง ทำให้เป็นสาเหตุของการสะสมโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดมากขึ้น และเกิดโรคต่างๆตามมาในที่สุด - High density lipoprotein (HDL) ทำหน้าที่ในการขนส่งไขมันเหล่านี้จากเนื้อเยื่อต่างๆไปกำจัดที่ตับ วิธีการรักษาภาวะ dyslipidemia จะขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วยว่ามีค่าของไขมันชนิดไหนสูงกว่าปกติ และสูงกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากความผิดปกติมีไม่มาก ผู้ป่วยมักจะไม่ต้องรับประทานยาลดระดับไขมันในเลือด เพียงแค่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายก็เพียงพอ แต่หากปฏิบัติแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับไขมันให้ปกติได้ หรือกรณีที่ตรวจเลือดครั้งแรกและพบว่าค่าไขมันในเลือดสูงมาก ผู้ป่วยมักจะได้รับยาลดระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมมารับประทาน ยาลดระดับไขมันในเลือดมีหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป ยา simvastatin เป็นยากลุ่มหนึ่งที่มีประสิทธิภาพเด่นในการลดระดับ LDL อีกทั้งยังสามารถลดระดับ triglyceride ได้เล็กน้อย รวมถึงอาจเพิ่ม HDL ได้เล็กน้อยเช่นกัน จากข้อมูลในคำถามของคุณเรวัช สามารถคาดคะเนได้ว่าปัญหาหลัก คือระดับ triglyceride ที่ค่อนข้างสูงและ LDL ที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย จึงทำให้ตัดสินใจหรือได้รับคำแนะนำให้รับประทาน fish oil และ กำลังคิดว่าจะรับประทานยา simvastatin เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยกันกับ fish oil ในการแก้ปัญหา triglyceride และLDL ที่สูง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ fish oil ร่วมกับ simvastatin อยู่หลายการศึกษา พบว่าสามารถช่วยให้ควบคุมระดับไขมันให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ดี และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ fish oil และ simvastatin ร่วมกันนั้นน้อยมาก ซึ่งแนวทางการรักษาภาวะ dyslipidemia ของหลายๆองค์กร แนะนำว่าสามารถใช้ fish oil ร่วมกับ simvastatin ได้ คำแนะนำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา การจะเริ่มรับประทานยา simvastatin (รวมถึงยาอื่นๆ) ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพื่อให้ตนเองได้รับทราบถึงวิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง และผลข้างเคียงจากการใช้ยานั้นๆ รวมถึงได้รับการสัมภาษณ์ประวัติและตรวจค่าแล็ปที่จำเป็น ในกรณีนี้คุณเรวัชจะเริ่มรับประทานยา simvastatin ซึ่งต้องยานี้จะต้องรับประทานหลังอาหารเย็นทุกวัน เพื่อให้ยาไปยับยั้งการสร้าง cholesterol ของร่างกาย ผลข้างเคียงของยา simvastatin ที่มักพบได้บ่อยๆ คือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งในกรณีที่รุนแรงมากๆ(พบน้อยมาก) อาจจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและถูกทำลายได้ เนื่องจากยา simvastatin ต้องผ่านการทำลายที่ตับเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอาจจะต้องระวังการใช้ยาตัวนี้ เป็นต้น

Reference:
1. Barter P, Ginsberg HN. Effectiveness of combined statin plus omega-3 fatty acid therapy for mixed dyslipidemia. Am J Cardiol 2008;102:1040-5.
2. Maki KC, Lubin BC, Reeve MS, Dicklin MR, Harris WS. Prescription omega-3 acid ethyl esters plus simvastatin 20 and 80 mg: effects in mixed dyslipidemia. J Clin Lipidol 2009;3:33-8.
3. Eslick GD, Howe PRC, Smith C, Priest R, Bensoussan A. Benefits of fish oil supplementation in hyperlipidemia: a systematic review and meta-analysis. Int J Cardiol. 2009;136:4-16.

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้