หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาเพิ่มเลือด มีแบบไหนบ้างค่ะ คือตัวดิฉันเอง ได้ตรวจสุขภาพมา 3 ปี คุณหมอลงความเห็นคล้ายๆ กัน ว่า มีเกร็ดเลือดต่ำ มีสภาวะอาจเป็นโลหิตจาง อะไรทำนองนั้นค่ะ จำศัพท์แพทย์ไม่ได้แล้ว.. และได้บริจาคเลือดครั้งแรก ทางสภากาชาดบอกว่า บริจาคไม่ได้ เลยให้ยาดิฉันมาทาน ซึ่งยานั้นดิฉันอยากทราบว่า คือยาอะไร มีอันตรายอะไรไหมค่ะ หากดิฉันจะไปขอซื้อจากสภากาชาดมารับประทานเอง หรือว่า ยาบำรุงเลือดชนิดอื่น ซึ่งได้ข้อมูลมาว่า ยาบำรุงเลือดจะมีธาตุเหล็กสูง หากมีมากๆ ในร่างกายจะไม่มีผลดีต่อร่างกาย จริงไหมค่ะ แล้วถ้าเราทานแต่โฟเลต อย่างเดียวไปตลอดเลย จะมีผลอย่างไรบ้างค่ะ ปัจจุบันดิฉันทานยาเฮโมวิต อยู่ค่ะ ไม่รู้ว่าทานตลอดได้ไหม (เพราะเห็นผสมวิตามินด้วย) อีกนิดนึงค่ะ หลังจากที่ดิฉันได้รับยาจากสภากาชาดมา ทาน 3 เดือน แต่ดิฉันก็ไปบริจาคใหม่ในปี ต่อมา ซึ่งขาดช่วงเป็นปี ไปอีกครั้งปรากฎว่า ทางสภากาชาด บอกว่า ดิฉันเลือดลอย แต่ถ้าอยากจะบริจาคก็บริจาคได้น่ะ ทำนองนั้นค่ะ ดิฉันก็เลยบริจาคไป ช่วยแนะนำทีน่ะค่ะ ว่าดิฉันคิดถูกคิดผิด ต้องทานยาอย่างไรให้ถูกต้อง เกี่ยวกับเลือดนี้ ขอคำแนะนำทีค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

ถามโดย vanessa เผยแพร่ตั้งแต่ 08/04/2010-18:30:31 -- 103,785 views
 

คำตอบ

ภาวะโลหิตจาง (anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดลดลงต่ำกว่าค่าปกติ การที่ร่างกายขาดสารอาหารจำพวก ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก (โฟเลต) วิตามินบี 12 หรือการเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคไตวายเรื้อรัง รวมถึงการได้รับยาบางชนิดที่มีผลกดไขกระดูก (bone marrow suppression) เช่น ยาเคมีบำบัด มักเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง นอกจากนี้โลหิตจางอาจเกิดจากการเสียเลือดอย่างต่อเนื่องทีละน้อยๆ เช่นเป็นโรคพยาธิ หรือเป็นโรคแผลในทางเดินอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดีอาการของภาวะโลหิตจางนั้นมักไม่ค่อยเด่นชัด ซึ่งส่วนมากจะต้องอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบปริมาณสารต่างๆ ในร่างกาย และลักษณะความผิดปกติของเม็ดเลือด เช่น ขนาดเม็ดเลือดแดง ความเข้มสีของเม็ดเลือดแดง หรือจำนวนเม็ดเลือดแดง เพื่อหาสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางต่อไป การรักษาภาวะโลหิตจางที่เหมาะสมนั้นจะต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุใดแล้วจึงแก้ไขที่สาเหตุนั้น เช่น ผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมักทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม ผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดกรดโฟลิก หรือ วิตามินบี 12 เม็ดเลือดแดงมักมีขนาดใหญ่จำเป็นต้องได้รับกรดโฟลิก หรือวิตามินบี 12 เสริมเข้าไป หรือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอาจจำเป็นต้องได้รับ erythropoietin (EPO) เพื่อให้เม็ดเลือดแดงมีการสร้างและสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ เป็นต้น ดังนั้นหากต้องการรับประทานยาหรือวิตามินใดๆ ก็ตามเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ก่อนว่าตนเองมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ สาเหตุเกิดจากอะไร จากนั้นจึงรับประทานหรือใช้ยาที่เหมาะสมกับสาเหตุนั้นๆ จะเป็นการช่วยแก้ภาวะโลหิตจางได้เหมาะสมที่สุด และปลอดภัยที่สุด กรณีของยาเพิ่มเลือดที่คุณ Vanessa ได้รับจากสภากาชาดนั้นมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นธาตุเหล็ก ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานธาตุเหล็ก คือ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องผูก นอกจากนี้เมื่อถ่ายอุจจาระจะพบว่ามีสีดำ ดังนั้นหากในระหว่างที่คุณ Vanessa รับประทานยาดังกล่าวแล้วอุจจาระมีสีดำ ก็มีความเป็นไปได้ว่ายาดังกล่าวคือ ธาตุเหล็ก ครับ แต่อย่างไรก็ดีคำตอบนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลของลักษณะเม็ดยา เช่น ขนาดเม็ดยา สี การเคลือบเม็ด หรือวิธีการรับประทานยา หากคุณ Vanessa ต้องการทราบอาจโทรศัพท์สอบถามทางสภากาชาดได้ครับ การรับประทานธาตุเหล็กขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการสะสมและทำให้เกิดพิษจากธาตุเหล็กได้ ดังนั้นการรับประทานธาตุเหล็กควรรับประทานตามระยะเวลที่แพทย์สั่งเท่านั้น และควรเข้ารับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาและดูว่าจำเป็นต้องรับประทานธาตุเหล็กต่อหรือไม่ จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้มากที่สุดครับ กรณีการรับประทานยาเฮโมวิตต่อเนื่องกันนั้น หากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว และแพทย์เป็นผู้สั่งให้รับประทานก็สามารถทำได้ครับ แต่ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยมาก่อนแนะนำว่าให้ควรเข้ารับการตรวจภาวะโลหิตจางก่อนดีกว่าครับ เพื่อดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไรและมีความจำเป็นต้องรับประทานยาหรือไม่ ส่วนการรับประทานโฟเลตนั้นแนะนำว่าให้เข้ารับการตรวจภาวะโลหิตจางก่อนเช่นกัน เนื่องจากการรับประทานโฟเลตหรือกรดโฟลิกนั้นมีข้อควรระวังในผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 เพียงอย่างเดียว

Reference:
1. Shrier SL. Approach to the adult patient with anemia. In: UpToDate Online 17.3. [Online]. 2010 Jan. Available from: UpToDate, Inc.; 2010. [cited 2010 Apr 19].
2. Iron. In: DrugPoint® Summary. [Online]. 2010 Mar 29. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Apr 19].

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้