หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วัคซีนIPD ใช้ในกรณีไหน

ถามโดย อยากรู้จัง เผยแพร่ตั้งแต่ 22/07/2011-21:56:25 -- 13,276 views
 

คำตอบ

โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease - IPD) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Streptococcus pneumoniae ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) โรคติดเชื้อในกระแสเลือด (bacteremia) โรคปอดอักเสบ (pneumonia) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือพิการได้ วิธีการรักษาคือการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Penicillins หรือ Cephalosporins แต่ปัจจุบันพบว่ามีการดื้อยามากขึ้นทำให้ต้องใช้ขนาดยาในการรักษามากขึ้นและอาจทำให้ต้องนอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น การใช้วัคซีนเป็นวิธีหนึ่งใช้ในการป้องกันโรคได้ซึ่งแบ่งวัคซีนเป็น 2 ประเภทคือ polyvalent polysaccharide vaccine ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ วัคซีนนี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จึงแนะนำในเด็กที่อายุ 2 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไปและ/หรือกลุ่มคนดังกล่าวที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง (เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ alcoholism) ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่มีการทำงานของม้ามผิดปกติ (เช่น sickle cell disease) หรือผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชราหรือสถานที่รับดูแลผู้ป่วย โดยฉีดเพียงครั้งเดียว แต่อาจฉีดกระตุ้นอีกครั้งหลังฉีดครั้งแรก 3-5 ปี ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคได้ 60-70% ส่วนอีกประเภทเป็น pneumococcal conjugate vaccines ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนให้มีความครอบคลุมเชื้อมากขึ้นจาก 7 สายพันธุ์เป็น 13 สายพันธุ์ต่อกับโปรตีนที่ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อเอชไอวี, เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน, เด็กที่ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ธาลัสซีเมีย หรือเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 4 เข็มที่อายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน ถ้าเด็กไม่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุดังกล่าว จำนวนครั้งของการได้รับวัคซีนและระยะห่างของวัคซีนขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ส่วนทางด้านประสิทธิภาพจากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าวัคซีนสามารถครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรคได้มากกว่า 90% แต่ยังไม่มีผลการศึกษาประสิทธิภาพการครอบคลุมเชื้อของวัคซีนนี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนนี้ในเด็ก ก็ไม่ใช่ว่าเด็กจะไม่เป็นโรคติดเชื้อนี้เลย พบว่าเด็กสามารถติดเชื้อ streptococcus pneumoniae ได้ แต่เป็นสายพันธุ์อื่น ที่ไม่ได้อยู่ในสายพันธ์ที่เป็นองค์ประกอบของวัคซีน เพียงแต่พบว่าสายพันธ์อื่นๆ นั้นมักเป็นสายพันธุ์ที่ตอบสนองได้ดีต่อยาฆ่าเชื้อในปัจจุบัน

Reference:
- http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/pneumo/in-short-both.htm#who
- http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/pneumo.pdf
- http://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/mm5909a2.htm
- ชิษณุ พันธุ์เจริญ. โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส. ใน: จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ชิษณุ พันธุ์เจริญ, ทวี โชติพิทยสุนนท์, อุษา ทิสยากรม, บรรณาธิการ. โรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพรส จำกัด, 2550: 73-82.

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้