หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทรานซามิน...รักษาฝ้าได้จริงหรือ?

โดย นศภ. บุษณีย์ เหล็กอิ่ม ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ. อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2566 -- 30,952 views
 

ฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็นหนึ่งในปัญหากวนใจสำหรับผู้คนมากมาย ทำให้ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาฝ้าที่หลากหลายให้เลือกใช้รวมถึงทรานซามิน ซึ่งบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วทรานซามินคืออะไร? และรักษาฝ้าได้จริงหรือไม่?

ฝ้า เกิดจากอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยปกติ ที่ผิวหนังมีเซลล์ชื่อเมลาโนไซต์ (melanocytes) ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีที่ชื่อว่าเมลานิน (melanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่มีสีน้ำตาลแดงจนถึงดำ ทำให้เห็นเป็นจุดเม็ดสีผิวที่ผิวหนัง1 แต่เมื่อเซลล์ที่ผิวหนังอีกชนิดหนึ่งชื่อเคราติโนไซต์ (keratinocytes) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เคราติโนไซต์จะกระตุ้นเมลาโนไซต์ให้สร้างและลำเลียงเม็ดสีเมลานินขึ้นสู่ชั้นผิวหนังผ่านการทำงานของโปรตีนพลาสมินโนเจนแอคทีเวเตอร์ (plasminogen activator) และโปรตีนพลาสมิน (plasmin) เกิดเป็น “ฝ้า (melasma)” ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยส่วนมากฝ้ามักเกิดในเพศหญิง และสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับแสง ปัจจัยหลักในการกระตุ้นการเกิดฝ้า คือ รังสี UVA ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของเคราติโนไซต์โดยตรง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ กรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ ยาคุมกำเนิด2 เป็นต้น

รูปที่ 1 กลไกการเกิดฝ้าและกลไกของทรานซามินในการยับยั้งการเกิดฝ้า

ทรานซามิน (Transamin®) คืออะไร?

Transamin® (ทราน-ซา-มิน) เป็นชื่อการค้าของยา tranexamic acid (ทราน-นี-ซา-มิค-แอ-ซิด) มีฤทธิ์ห้ามเลือด ข้อบ่งใช้ที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) คือ ใช้ป้องกันภาวะเลือดออกระยะสั้น (hemophilia) จากการทำหัตถการในช่องปาก และอีกข้อบ่งใช้ คือ ใช้ในผู้ที่มีภาวะเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ (menorrhagia)3 ส่วนข้อบ่งใช้ในประเทศไทย คือ ใช้ในภาวะเลือดออกในช่องปาก (oral bleeding) ใช้ป้องกันในกรณีที่จะทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (bleeding tendency) และภาวะเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ4 อย่างไรก็ตามพบว่ามีการศึกษาจำนวนมากที่ยืนยันว่าทรานซามินมีผลลดการเกิดฝ้า โดยเริ่มมีข้อมูลการใช้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 19795 ทำให้แพทย์ผิวหนังเริ่มนำทรานซามินมาใช้เพื่อรักษาฝ้า รวมทั้งใช้ช่วยให้ผิวขาวเมื่อปี ค.ศ. 20026

ทรานซามินลดการเกิดฝ้าได้อย่างไร?

จากรูปที่ 1 ทรานซามินช่วยลดฝ้าจากฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนพลาสมินโนเจนแอคทีเวเตอร์และโปรตีนพลาสมิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่กระตุ้นให้เมลาโนไซต์ทำงานเพิ่มขึ้น จนเกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินแล้วทำให้เกิดฝ้า7 ซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นกลไกเดียวกับการเกิดผิวคล้ำ จึงมีการนำทรานซามินมาใช้โดยแพทย์ผิวหนังเพื่อทำให้ผิวขาวใส สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับทรานซามินในการทำให้ผิวขาวใสได้ที่บทความ: ทรานซามิน (transamin) กับผิวขาว...จริงหรือไม่

ในปัจจุบัน ได้มีการรวบรวมการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ทรานซามินในการรักษาฝ้า ผลรวมจาก 24 การศึกษาที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของทรานซามินรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ชนิดยารับประทาน ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และครีม จากระยะการศึกษา 12 สัปดาห์ พบว่าการใช้ทรานซามินชนิดรับประทานขนาด 500-750 mg มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้ามากที่สุดและเห็นผลชัดเจนที่สุดที่ 4 สัปดาห์ ในขณะที่ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาด 100-200 mg และชนิดครีมความเข้มข้น 2-10% มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าใกล้เคียงกัน และจะเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ต่อเนื่องไป 8 สัปดาห์8

Transamin® มีผลข้างเคียงรุนแรงหรือไม่?

ทรานซามินจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือซื้อจากร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ ในการใช้ทรานซามินรักษาฝ้า ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง ขนาดของทรานซามินที่ใช้ในการรักษาฝ้า คือ 250 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง ต้องรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อยประมาณ 4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลเต็มที่8 ในขณะที่ขนาดที่ใช้ในภาวะเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ คือ 1,000-1,500 mg วันละ 3-4 ครั้ง ใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 5 วัน9 ซึ่งการรับประทานเพื่อรักษาฝ้าเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ซึ่งอาจเกิดหลังเริ่มใช้ยาภายใน 1 ชั่วโมง จนถึงใช้ยาไปแล้วหลายปี และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาในขนาดสูงถึง 2,000-4,000 mg อีกทั้งยาอาจทำให้การมองเห็นผิดปกติซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 5 วัน ถึง 1 เดือน หลังจากเริ่มใช้ยา9 ส่วนการใช้ทรานซามินชนิดผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกความเข้มข้น 2-3% พบรายงานผลข้างเคียง ได้แก่ ระคายเคืองผิวบริเวณที่ทา ผิวแห้ง10 เนื่องจากทรานซามินรูปแบบผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกจะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดน้อยมาก จึงส่งผลให้มีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยารับประทาน

บทสรุป

ถึงแม้ว่าการใช้ทรานซามินรูปแบบรับประทานจะเห็นผลในการรักษาฝ้ามากที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจน ซึ่งอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในระหว่างการใช้ยาได้ อีกทั้งทรานซามินยังไม่ได้รับข้อบ่งใช้อย่างเป็นทางการสำหรับรักษาฝ้าทั้งจาก USFDA และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ดังนั้นการใช้ทรานซามินรักษาฝ้า จึงต้องมีการปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางผิวหนังและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อมารับประทานหรือนำมาฉีดเอง ทั้งนี้ทรานซามินรูปแบบครีมถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยและมีอาการไม่พึงประสงค์น้อย อย่างไรก็ตามต้องใช้ยาร่วมกับการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดฝ้า เช่น ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Grimes PE, Yamada N, Bhawan J. Light microscopic, immunohistochemical, and ultrastructural alterations in patients with melasma. Am J Dermatopathol. 2005; 27(2):96.
  2. Passeron T. Melasma pathogenesis and influencing factors - an overview of the latest research. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2013;27 Suppl 1:5.
  3. Chauncey JM, Wieters JS. Tranexamic Acid. [Updated 2021 Jul 28]. In: StatPearls. [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532909/
  4. Tranexamic acid. National Drug Information (NDI). กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_ file/20170503183819.pdf
  5. Nijor T. Treatment of melasma with tranexamic acid. Clin Res 1979; 13:3129-31.
  6. Maeda K. Timeline of the Development of Skin-Lightening Active Ingredients in Japan. Molecules. 2022; 27(15):4774.
  7. Tse TW, Hui E. Tranexamic acid: an important adjuvant in the treatment of melasma. J Cosmet Dermatol. 2013; 12(1):57-66.
  8. Feng X, Su H, Xie J. Efficacy and safety of tranexamic acid in the treatment of adult melasma: An updated meta-analysis of randomized controlled trials. J Clin Pharm Ther. 2021 Oct; 46(5):1263-1273.
  9. Tranexamic acid: Drug information. Post TW, ed. UpToDate. Waltham, MA: UpToDate. [Cited 2023 Feb 16]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/tranexamic-acid-drug-information?search=tranxenamic%20acid&source=search_result&selectedTitle= 1~150&usage_type=default&display_rank=1#.
  10. Kim HJ, Moon SH, Cho SH, Lee JD, Kim HS. Efficacy and Safety of Tranexamic Acid in Melasma: A Meta-analysis and Systematic Review. Acta Derm Venereol. 2017; 97(7):776-781.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ทรานซามิน tranexamic acid ฝ้า
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้