หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไอมากเพราะใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่หรือเปล่า?

โดย นศภ.ภูมิรพี ปฏิมาประกร ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 -- 7,072 views
 

โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure, SBP, ความดันตัวบน)³ 140 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure, DBP, ความดันตัวล่าง) ³90 มม.ปรอท โดยอ้างอิงจากการวัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาล ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันพบประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยปัญหาหลักของการควบคุมโรคความดันโลหิต คือ การที่ผู้ป่วยไม่ได้ตระหนักว่าตนเองเป็นโรค หรือแม้จะตระหนักก็ยังไม่ให้ความสำคัญและไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนทำให้โรครุนแรง มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากในแต่ละปีจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น1

ปัจจุบันมีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี คือ 1) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และ 2) การให้ยาลดความดันโลหิต โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถทำได้โดยการลดน้ำหนัก ปรับรูปแบบของการบริโภคอาหาร จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร ออกกำลังกาย จำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกบุหรี่ ในส่วนของการให้ยาลดความดันโลหิต ผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิตที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ซึ่งการใช้ยาลดความดันโลหิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการตาย1 ดังนั้นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับยาลดความดันโลหิตควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดเมื่อมีประโยชน์ก็อาจมีผลข้างเคียง ซึ่งผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตมีได้หลากหลาย เช่น ความดันต่ำ วูบ หน้ามืด หรือขาบวม แต่ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยมักพบแต่ไม่ทราบว่าเกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการไอ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเป็นหวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สัมผัสควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ

รู้ได้อย่างไรว่าอาการไอเกิดจากการใช้ยาลดความดันโลหิต?

หากแบ่งตามระยะเวลา อาการไอสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1) อาการไอเฉียบพลัน (ไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์) และ 2) อาการไอเรื้อรัง (ไอมากกว่า 3 สัปดาห์) โดยอาการไอเฉียบพลันมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลมและการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ในส่วนของอาการไอเรื้อรังมักมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการใช้ยาลดความดันโลหิต โรคหืด โรคกรดไหลย้อน หรือโรควัณโรคปอด2,3

หากแบ่งตามลักษณะของอาการ สามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิด คือ 1) ไอแห้ง และ 2) ไอแบบมีเสมหะ โดยอาการไอแห้งเกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และจะไม่มีเสมหะปน เช่น อาการไอจากกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ และการใช้ยาลดความดันโลหิต ในส่วนของอาการไอแบบมีเสมหะมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ปอดอักเสบ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายมีการสร้างเมือกเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จึงทำให้มีอาการไอร่วมกับมีเสมหะ2,3

ยาลดความดันโลหิตกลุ่มใดที่อาจทำให้ไอได้?

ปัจจุบันมียาลดความดันโลหิตหลายชนิด โดยยาลดความดันโลหิตซึ่งมักมีรายงานผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการไอ คือ ยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEIs) และ beta-blockers4

อาการไอจากยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs

ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs ดังแสดงในตารางที่ 1 ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยขยายหลอดเลือดและลดการดูดกลับน้ำที่ไต ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ โดย ACEIs ทำให้เกิดอาการไอจากการไปรบกวนการกำจัดออกของสารที่ทำให้เกิดอาการไอ คือ bradykinin ซึ่งมีหน้าที่ขยายหลอดเลือด แต่การมี bradykinin สะสมมากในร่างกาย สามารถส่งผลให้เกิดอาการไอในผู้ที่ใช้ยา โดยผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการไอหลังจากใช้ ACEIs ประมาณ 35% ซึ่งอาการไอที่พบมักมีลักษณะไอแห้ง ๆ ติดต่อกันโดยเกิดจากความรู้สึกระคายคอ ซึ่งอาการจะเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืนหรือเมื่อนอนราบ ดังนั้นถ้าหากมีอาการไอแบบมีเสมหะอาจไม่ได้เป็นผลจากยา ACEIs โดยตรง โดยความรุนแรงของอาการไอนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ส่วนมากอาการไอจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่จะสร้างความรำคาญให้แก่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงด้านอาการไอเลยก็เป็นได้4-6

ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน7

ชื่อตัวยาสำคัญ

ตัวอย่างชื่อการค้า

ปริมาณตัวยาสำคัญ (mg)

Captopril

CAPOTEN, CAPRIL, TAGUAR

12.5, 25, 50

Cilazapril

INHIBACE

1, 2.5, 5

Enalapril

ANAPRIL, ENACE, ENARIL

5 ,10, 20

Imidapril

TANATRIL

2.5, 5, 10

Lisinopril

AUROLIZA, DAPRIL, LISDENE

2.5, 5, 10, 20

Perindopril

COVERSYL

2, 4, 5, 8, 10

Quinapril

ACCURETIC, ACCUPRIL, QUINARIL

5, 10, 20, 40

Ramipril

RAMIRIL, RAMTACE, TRITACE

1.25, 2.5, 5, 10

Zofenopril

BIFRIL

15, 30

อาการไอจากยาลดความดันโลหิตกลุ่ม beta-blockers

ยากลุ่ม beta-blockers ดังแสดงในตารางที่ 2 ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายลดลง แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ คือ ยาสามารถทำให้หลอดลมหดตัว ทำให้อาจมีการหายใจลำบากและเกิดอาการไอ ซึ่งภายหลัง beta-blockers รุ่นใหม่ ได้แก่ atenolol, metoprolol, nebivolol และ bisoprolol ได้รับการพัฒนาให้จำเพาะต่อหัวใจและลดผลข้างเคียงที่ทำให้หลอดลมหดตัว จึงอาจลดผลข้างเคียงด้านอาการไอได้มากขึ้น โดยอาการไอที่พบจากการใช้ beta-blockers จะมีลักษณะไอแห้งและอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เกิดอาการไอจากการได้รับยากลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมีหลอดลมที่ตีบแคบอยู่เดิม8-11

ตารางที่ 2 ตัวอย่างยาลดความดันโลหิตกลุ่ม beta-blockers ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน7

ชื่อตัวยาสำคัญ

ตัวอย่างชื่อการค้า

ปริมาณตัวยาสำคัญ

Atenolol

ANOLOL, ATENOL, BETADAY

25, 50, 100 mg

Bisoprolol

CONCOR, HYPERCOR, NOVACOR

2.5, 5, 10 mg

Carvedilol

CARATEN, CARVOLOL, DILATREND

3.125, 6.25, 12.5, 25 mg

Metoprolol

BETABLOK, BETALOC ZOK, CARDIOSEL-OD, SEFLOC, SELOKEN ZOK

47.5, 95, 100, 200 mg

Nebivolol

BILKATE, BIOLET, NEBILET

5 mg

Propranolol

ANNALOL, BETALOL, PROLOL

10, 40 mg

โดยปกติแล้วหากอาการแสดงของอาการไอตรงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการใช้ยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาให้ผู้ป่วย อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้เปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาเอง เนื่องจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องใช้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุมความดันให้ได้ตามค่าเป้าหมายและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้ป่วยหลายคนอาจเข้าใจว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตแล้วค่าความดันจะกลับมาปกติคือการหายจากโรคความดันโลหิตสูง จึงไม่รับประทานยาต่อ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังจึงต้องใช้ยาเพื่อคุมความดันให้ปกติและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ทริค ธิงค์; 2562.
  2. ปารยะ อาศนะเสน. อาการไอ (cough) ตอนที่ 1. สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล [internet]. 2553. [cited 09/08/2566]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=327.
  3. ปารยะ อาศนะเสน. อาการไอ (cough) ตอนที่ 2. สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล [internet]. 2553. [cited 09/08/2566]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=328.
  4. นิสามณี สัตยาบัน. อาการไอจากการใช้ ACE Inhibitors. วารสาร เภสัชวิทยา. ภาควิชาเภสัชวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า [internet]. 2532. [cited 09/08/2566]. Available from: https://li01.tci-thaijo.org/index.php/JBAP/article/download/37330/31056/84737.
  5. Yılmaz İ. Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitors Induce Cough. Turk Thorac J. 2019; 20(1):36-42.
  6. Enalapril. Merative Micromedex® [internet]. 2023 [cited 29/08/2023]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com/home/dispatch.
  7. Thai Medicines Terminology. Thai Health Information Standards Development Center [internet]. 2023. [cited 18/08/2023]. Available from: https://tmt.this.or.th/ TMTBrowser.dll/wf6xb0-Ep0gyBHdCa0Pztq/$/.
  8. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์. แนวทางการดูแลโรคหืด. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. มหาวิทยาลัยมหิดล [internet]. n.d. [cited 27/08/2023]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/management%20of%20patient%20with%20asthma.pdf.
  9. Sharma MV, Kakkilaya BS, Shekh IA, Bhat AC, Harsha DS. A rare cause for a common symptom. Breathe (Sheff). 2016; 12(3):e64-e74.
  10. Medford AR. A 54 year-old man with a chronic cough--Chronic cough: don't forget drug-induced causes. Prim Care Respir J. 2012; 21(3):347-348.
  11. Beta blockers. National Health Service [internet]. 2022 [cited 29/08/2023]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/beta-blockers/.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ไอ ยาลดความดันโลหิต ผลข้างเคียงจากยาลดความดันโลหิต
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้