หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อัลบูมินมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยตับแข็งที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2555 -- อ่านแล้ว 3,787 ครั้ง
 
มีการศึกษาเกี่ยวกับการให้อัลบูมินในผู้ป่วยตับแข็งที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องท้อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อระบบไหลเวียนโลหิต การเกิดไตวาย และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยได้ศึกษาในผู้ป่วยตับแข็ง 110 คน พบว่า การให้อัลบูมินสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และป้องกันการติดเชื้อในระบบไหลเวียนโลหิต และป้องกันการเกิดไตวายได้ โดยพบว่าตลอดระยะเวลา 14 วันของการทดลอง กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับทั้งยาปฏิชีวนะและอัลบูมิน จะมีระดับ serum creatinine ต่ำกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว แต่มีนัยสำคัญทางสถิติเพียงแค่วันที่ 3 และวันที่ 7 เท่านั้น หลังจากการรักษามีผู้ป่วย 20 คนจากทั้งหมด 97 คนเป็นไตวาย โดยมาจากผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ๆ ละ 10 คนผู้ป่วยที่ได้รับอัลบูมินร่วมด้วยพบว่า อาการไตวายสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออีก 77 คนที่ไม่ได้เป็นไตวาย มี 4 คนจากกลุ่มควบคุม (คิดเป็น 10%) และ 1 คนจากกลุ่มที่ได้รับอัลบูมิน (คิดเป็น 3%) มีแนวโน้มที่จะเป็นไตวาย

เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของ renin, ระดับaldosterone และ norepinephrine พบว่ากลุ่มที่ได้รับอัลบูมินจะมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ระดับ atrial natriuretic peptide (ANP) เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลเพิ่มประสิทธิภาพของ arterial blood volume นอกจากนี้ยังพบว่า ค่า mean arterial pressure ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 ในกลุ่มควบคุม แต่คงที่ในกลุ่มที่ได้รับอัลบูมิน

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือนของการติดตามผล พบว่า ผู้ป่วย 10 คนจากกลุ่มควบคุม และ 8 คนจากกลุ่มที่ได้อัลบูมินเสียชีวิต ในผู้ป่วยกลุ่มควบคุมและเป็นไตวาย จะมีอัตราการตายใน 3 เดือนมากกว่ากลุ่มที่ได้อัลบูมินอย่างมีนัยสำคัญ (56% ต่อ 10% ตามลำดับ, p<0.001) หลังจากทำการปรับค่าต่างๆให้มีความเหมาะสมเพื่อการทำนาย แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับอัลบูมินมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่า (p=0.04) ซึ่งทางผู้วิจัยกล่าวว่า การป้องกันการเสื่อมของไตมีความสำคัญต่อการลดอัตราการตายในผู้ป่วยตับแข็ง อย่างไรก็ตามผลเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตนั้นควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้