หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Statins กับพันธุกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ statin-induced myopathy

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤษภาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 8,043 ครั้ง
 

Statins (HMG-CoA reductase inhibitors) ใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่อลดไขมันในเลือดในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง และยังใช้สำหรับป้องกัน heart attack และ stroke ในผู้ป่วย coronary heart disease (CHD) หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด CHD โดยใช้ยาร่วมกับการควบคุมอาหาร ตัวอย่างยาในกลุ่ม statins ดูได้จากตาราง ปัจจุบันมีการศึกษาที่สนับสนุนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับบทบาทของ statins ในการป้องกัน heart attack และ stroke อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการผ่าตัดทำทางเดินเลือดใหม่ (coronary artery bypass)

อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ที่ทราบกันดีและได้รับความสนใจมาก ได้แก่ ภาวะ myopathy (ปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ ไม่มีแรง) จึงมีหลายองค์กรที่กำลังประเมินถึงประโยชน์จากการใช้ยาเทียบกับความเสี่ยงต่อผลไม่พึงประสงค์ รวมถึงให้ความสนใจด้านพันธุกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ statin-induced myopathy เช่น การกลายพันธุ์ของยีน SLCO1B1 (solute carrier organic anion transporter family, member 1B1) ที่ถอดรหัส (encode) สร้างโปรตีน OATP1B1 (organic anion transporting polypeptide 1B1) ซึ่งเป็นตัวขนส่งสารจากเลือดเข้าสู่เซลล์ตับ (เป็น uptake transporter) เพื่อสู่กระบวนการเปลี่ยนสภาพ (metabolism) ซึ่ง simvastatin พึ่งพาตัวขนส่งชนิดนี้มากกว่า statin ตัวอื่นๆ ดังนั้นหากยีนกลายพันธุ์แล้วทำให้โปรตีน OATP1B1 ที่ทำหน้าที่ลดลงจะมีผลต่อปริมาณยาในเลือดของ simvastatin มากกว่ายาตัวอื่นดังข้อมูลในตาราง การกลายพันธุ์ของยีน SLCO1B1 มีได้หลายตำแหน่ง เช่นที่ rs4149056 หากยีนปกติจะสร้างตัวขนส่งที่ทำหน้าที่ปกติและส่งผลให้การเปลี่ยนสภาพยาเป็นไปตามปกติ (normal metabolizer; T/T) แต่ถ้าเกิด variant gene จำนวน 1 อัลลีล (allele) จะทำให้ตัวขนส่งทำหน้าที่ลดลง ส่งผลให้การเปลี่ยนสภาพยาเกิดได้ลดลงด้วย (intermediate metabolizer; T/C) และหากเกิด variant gene ทั้ง 2 อัลลีล จะได้ตัวขนส่งที่บกพร่องทำให้การเปลี่ยนสภาพยาเกิดได้ไม่ดี (poor metabolizer; C/C) ซึ่งในกรณีหลังนี้จะทำให้มีระดับ simvastatin ในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ myopathy จึงมากตามไปด้วย ดังนั้นในผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่พึ่งตัวขนส่งดังกล่าวน้อย หรือปรับลดขนาดยา simvastatin ตามการทำหน้าที่ของตัวขนส่งยา

อ้างอิงจาก:

(1) Medicines and Health Products Regulatory Agencty Statins benefits and risks. Drug Safety Update 2014;7: Article date: May 2014; (2) Wilke RA, Ramsey LB, Johnson SG, Maxwell WD, McLeod HL, et al. The Clinical Pharmacogenetics Implementation Consortium: CPIC guideline for SLCO1B1 and simvastatin-induced myopathy. Clin Pharmacol Ther 2012;92:112-7; (3) Carr DF, O’Meara H, Jorgensen AL, Campbell J, Hobbs M, McCann G, et al. SLCO1B1 genetic variant associated with statin-induced myopathy: a proof-of-concept study using the clinical practice research datalink. Clin Pharmacol Ther 2013;94:695-701

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
statin simvastatin pitavastatin atorvastatin pravastatin rosuvastatin fluvastatin HMG-CoA reductase inhibitor heart attack stroke coronary heart disease CHD coronary artery bypass myopathy statin-induced myopathy SLCO1B1 solute carr
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้