หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Allopurinol อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด myocardial infarction

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2558 -- อ่านแล้ว 8,108 ครั้ง
 

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) และโรคเกาต์ (gout) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) allopurinol เป็นยาในกลุ่ม xanthine oxidase inhibitors และเป็นยาอันดับแรกที่เลือกใช้เพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือดผู้ป่วยโรคเกาต์ ความสนใจเกี่ยวกับผลดีของ allopurinol ที่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction; MI) นั้น เริ่มมีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเร็วๆ นี้ ดังที่มีรายงานถึงผลการศึกษาแบบ population-based case-control study ในผู้ป่วยที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงหรือโรคเกาต์ที่มีอายุ 40-90 ปีซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดยมีผู้ป่วยในกลุ่ม MI (non-fatal acute MI) 3,171 คนและกลุ่มควบคุมมี 18,525 คน พบว่า allopurinol ในขนาดรับประทานที่เกินกว่า 300 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลาเกินกว่า 180 วัน มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อการเกิด MI (OR = 0.52; 95% CI = 0.33-0.83) โดยขึ้นกับขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา อีกการศึกษาหนึ่งที่พบผลดีของ allopurinol ในการลดความเสี่ยงต่อ MI เช่นเดียวกัน เป็นการศึกษาแบบ case-control study (2,277 MI cases และ 4,849 controls) พบว่าการใช้ allopurinol สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อ MI ในขณะที่การใช้ colchicine ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงนี้ อย่างไรก็ตามบางการศึกษาไม่พบผลดีของการใช้ xanthine oxidase inhibitors ซึ่งในการศึกษานั้นไม่เพียงแต่ allopurinol เท่านั้นยังรวมถึง febuxostat (เป็น xanthine oxidase inhibitor ชนิดใหม่) ที่มีต่อ cardiovascular risk ซึ่งดูถึงหลายปัจจัยไม่เฉพาะแค่ MI แต่ยังรวมถึง coronary revascularization, stroke และ heart failure การศึกษาที่ว่านี้เป็นแบบ cohort study ในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (≥6.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) อายุเฉลี่ย 51 ปี (88% เป็นผู้ชาย) จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยาและไม่ได้รับยากลุ่มละ 24,108 คน ผลการศึกษาพบว่า xanthine oxidase inhibitors ไม่ได้ช่วยลดหรือเพิ่ม cardiovascular risk เทียบกับการไม่ได้รับยารักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

ได้มีการอธิบายถึงกลไกที่ allopurinol ช่วยลดความเสี่ยงต่อ MI ว่ากรดยูริกก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่างต่อเซลล์และเนื้อเยื่อ เช่น ทำให้เนื้อเยื่อบุหลอดเลือดเกิดการอักเสบและทำหน้าที่ผิดปกติไป ทำให้หลอดเลือดอักเสบ ทำให้เกิดการเจริญของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด (vascular smooth muscle cell proliferation) กรดยูริกยังลดการสร้างไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ได้ นอกจากนี้ในช่วงที่มีการสร้างกรดยูริกจะเกิดอนุมูลอิสระ (free radicals) ขึ้นได้จากฤทธิ์ของ xanthine oxidase (ดูรูป) และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้เป็นอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้ ดังนั้นการที่ allopurinol ยับยั้ง xanthine oxidase จึงลดระดับกรดยูริกในเลือดและลดปริมาณอนุมูลอิสระ จึงน่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อ MI ได้

อ้างอิงจาก

(1) de Abajo FJ, Gil MJ, Rodríguez A, García-Poza P, Álvarez A, Bryant V, García-Rodríguez LA. Allopurinol use and risk of non-fatal acute myocardial infarction. Heart 2015;101:679-85; (2) Richette P. Allopurinol and risk of myocardial infarction. Heart 2015;0:1–2. doi:10.1136/heartjnl-2014-307278; (3) Grimaldi-Bensouda L, Alpérovitch A, Aubrun E, Danchin N, Rossignol M, Abenhaim L, et al. Impact of allopurinol on risk of myocardial infarction. Ann Rheum Dis 2015;74(5):836-42; (4) Kim SC, Schneeweiss S, Choudhry N, Liu J, Glynn RJ, Solomon DH. Effects of xanthine oxidase inhibitors on cardiovascular disease in patients with gout: a cohort study. Am J Med 2015;128(6):653.e7-653.e16. doi: 10.1016/j.amjmed.2015.01.013.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
hyperuricemia gout cardiovascular disease allopurinol xanthine oxidase inhibitor myocardial infarction MI population-based case-control study non-fatal acute MI case-control study colchicine febuxostat cardiovascular risk coronary revasc
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้