หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Piroxicam อาจเพิ่มประสิทธิผลการคุมกำเนิดฉุกเฉินของ levonorgestrel

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,609 ครั้ง
 
การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (oral hormonal emergency contraceptive pills) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันทั่วโลก โดยยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดรับประทานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ levonorgestrel ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน ทั้งนี้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการออกฤทธิ์คุมกำเนิดของ levonorgestrel ไว้อย่างมากมาย[1] อย่างไรก็ตามการศึกษาในปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่การชะลอหรือยับยั้งการตกไข่ โดย levonorgestrel จะชะลอการหลั่ง luteinizing hormone ที่พุ่งสูงขึ้นก่อนการไข่ตก (LH surge) จึงส่งผลรบกวนการตกไข่ ดังนั้นการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย levonorgestrel จะไม่ได้ประสิทธิผลหากรับประทานยาในช่วงที่เกิดการตกไข่ไปแล้ว[2]

การใช้ยาต้านอักเสบกลุ่มที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาต้านการอักเสบในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostaglandin ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสืบพันธุ์ของเพศหญิง ทั้งควบคุมการตกไข่และการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นหากนำยาต้านอักเสบที่มีฤทธิ์ยับยั้ง COX-2 มาใช้ในการคุมกำเนิดอาจก่อให้เกิดประสิทธิผลในการคุมกำเนิดทั้งในการรับประทานยาช่วงก่อนการตกไข่ (pre-ovulatory phase) จากฤทธิ์รบกวนการตกไข่ และในการรับประทานยาช่วงหลังการตกไข่ (post-ovulatory phase) จากฤทธิ์รบกวนการฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก[3]

การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet เป็นการศึกษา randomised double-blind placebo-controlled trial เกี่ยวกับประสิทธิผลของการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย 1.5 mg levonorgestrel ร่วมกับ 40 mg piroxicam ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบที่สามารถยับยั้ง COX-2 ได้ โดยทำในอาสาสมัครเพศหญิงของฮ่องกงที่ต้องการคุมกำเนิดด้วย levonorgestrel ภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันและมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของ trial ทั้งหมด 836 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยา levonorgestrel ร่วมกับ piroxicam และกลุ่มที่ได้รับ levonorgestrel ร่วมกับยาหลอก โดยแต่ละกลุ่มมีจำนวนอาสาสมัคร 418 คน ผลการศึกษาพบว่ามีอาสาสมัครตั้งครรภ์จำนวน 1 คน (0.2%) จากทั้งหมด 418 คน ในกลุ่มที่ได้รับ levonorgestrel ร่วมกับ piroxicam และพบตั้งครรภ์จำนวน 7 คน (1.7%) จากทั้งหมด 418 คน ในกลุ่มที่ได้รับ levonorgestrel ร่วมกับยาหลอก (odds ratio 0.20 [95% CI 0.02-0.91]; p=0.036) แสดงให้เห็นว่าการได้รับ levonorgestrel ร่วมกับ piroxicam สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 94.7% เทียบกับกลุ่มที่ได้รับ levonorgestrel ร่วมกับยาหลอกที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 63.4% ส่วนการมีรอบเดือนในครั้งถัดไปเร็วหรือช้ากว่ากำหนด และการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอาสาสมัคร 2 กลุ่ม[4] อย่างไรก็ตามการใช้จริงในทางปฏิบัติควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของแต่่ละบุคคลจากการใช้ยาต้านอักเสบ เช่น การระคายเคืองทางเดินอาหาร เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

1. Peck R, Rella W, Tudela J, Aznar J, Mozzanega B. Does levonorgestrel emergency contraceptive have a post-fertilization effect? A review of its mechanism of action. Linacre Q. 2016; 83(1):35-51.

2. Kahlenborn C, Peck R, Severs WB. Mechanism of action of levonorgestrel emergency contraception. Linacre Q. 2015; 82(1):18-33.

3. McCann NC, Lynch TJ, Kim SO, Duffy DM. The COX-2 inhibitor meloxicam prevents pregnancy when administered as an emergency contraceptive to nonhuman primates. Contraception. 2013; 88(6):744-748.

4. Li RHW, Lo SST, Gemzell-Danielsson K, Fong CHY, Ho PC, Ng EHY. Oral emergency contraception with levonorgestrel plus piroxicam: a randomised double-blind placebo-controlled trial. Lancet. 2023; S0140-6736(23)01240-0.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Piroxicam levonorgestrel การคุมกำเนิดฉุกเฉิน
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้