หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Ticagrelor : antiplatelet ตัวใหม่ คู่แข่งในอนาคตของ Clopidogrel และ Prasugrel

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2552 -- อ่านแล้ว 59,343 ครั้ง
 
Clopidrogrel เป็นยาที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับสองในกลุ่มของยาต้านการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด (antiplatelets) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาที่พบขณะนี้คือ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ตอบสนองต่อยา Clopidrogrel จึงมีความจำเป็นต้องคิดค้นและพัฒนายาใหม่เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษา ซึ่งเป็นที่มาของ Prasugrel และ Ticagrelor ที่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติโดย USFDA ในไม่ช้า

ระหว่างการประชุมของ European Society of Cardiology ณ กรุงบาร์เซโลนา ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าถึงผลวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 ซึ่งศึกษาประสิทธิภาพของยาตัวใหม่คือ Ticagrelor ในผู้ป่วย acute coronary syndromes (ACS) จำนวนกว่า 18,000 ราย ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (Platelet Inhibition and Patient Outcomes – PLATO trial) และผลปรากฏว่า การให้ยา Ticagrelor (90 mg BID, after loading dose of 180 mg) ช่วยป้องกันการเกิด MI, stroke และ cardiovascular death ได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Clopidrogrel (75 mg OD, after loading dose of 300 mg) ในผู้ป่วยเหล่านี้ซึ่งได้รับยา aspirin อยู่เดิมเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 6-12 เดือน ขณะเดียวกัน อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาตามที่มีการรายงานในการศึกษาทางคลินิก ระยะที่ 2 (DISPERSE-2) แสดงให้เห็นว่า bleeding events ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับยา Ticagrelor ไม่แตกต่างกันกับกับผู้ป่วยที่ได้รับยา Clopidogrel

สูตรโครงสร้างทางเคมีของ Ticagrelor นั้นต่างไปจาก Clopidrogrel และ Prasugrel เพราะไม่มีส่วนของ thienopyridine แต่สิ่งที่โดดเด่นยิ่งไปกว่านั้นคือกลไกการออกฤทธิ์ของยาซึ่งสามารถเปลี่ยนกลับได้ (reversible binding to P2Y12 receptor, half-life 12 hour) โดยใช้ระยะเวลาสั้นกว่า Clopidrogrel ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การผ่าตัดหลอดเลือด (CABG) ที่ปกติจะต้องรอระยะเวลานานถึง 5 วัน ในผู้ป่วยที่ได้รับยา Clopidrogrel

อย่างไรก็ตาม Ticagrelor มีข้อจำกัดของการใช้ยาที่ต้องพิจารณาคือ 1) ต้องให้ยาถึงวันละ 2 ครั้ง ขณะที่ Clopidogrel และ Prasugrel ให้ยาเพียงแค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น และ 2) อาการข้างเคียงจากยาคือ dyspnea (รายงานผลจาก DISPERSE-2 ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา Ticagrelor เกิดภาวะ dyspnea มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยา Clopidrogrel) ถึงแม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็เป็นข้อควรระวังที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลยืนยันที่แน่ชัดจาก PLATO เกี่ยวกับผลข้างเคียงดังกล่าว

งานวิจัยเกี่ยวกับยา Ticagrelor นำทีมโดย ดร. Gurbel ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ได้แก่ ONSET/OFFSET ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamics) ของยาดังกล่าว และ RESPOND ซึ่งทำการศึกษาประสิทธิภาพของยาในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อ Clopidrogrel
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้