หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษาแบบอภิวิเคราะห์ของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 5 เดือน พฤษภาคม ปี 2552 -- อ่านแล้ว 1,721 ครั้ง
 
การศึกษาแบบอภิวิเคราะห์ (meta-analysis) อันใหม่ของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (odd ratio = 0.83; 95%CI 0.75-0.93 และ odd ratio = 0.85; 95%CI 0.77-0.93 ตามลำดับ) โดยการศึกษาได้ทำการอภิวิเคราะห์จากการศึกษา 5 การศึกษาได้แก่ Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes (ACCORD) Action in Diabetes and Vascular Disease (ADVANCE) Veterans Affairs Diabetes Trial (VADT) United Kingdom Prospective Diabetes Study (UKPDS) และ Prospective Pioglitazone Clinical Trial in Macrovascular Events (PROACTIVE) มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 33,040 ราย ติดตามผู้ป่วยประมาณ 163,000 person-years ซึ่งมาจากการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและการตายจากทุกสาเหตุ และเปรียบเทียบผลจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดและการรักษามาตราฐานต่ออัตราการตายและการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดให้ค่า HbA1C ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบมาตราฐานร้อยละ 0.9 โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดสามารถลดการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายลงร้อยละ 17 และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลงร้อยละ 15 แต่ไม่มีผลลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและการตายจากทุกสาเหตุ (odd ratio = 0.93; 95%CI 0.81-1.06 และ odd ratio = 1.02; 95%CI 0.87-1.19 ตามลำดับ) ผู้ทำการศึกษาได้กล่าวถึงสาเหตุของผลการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในการศึกษา ADVANCE และ VADT ซึ่งพบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดไม่มีต่ออัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดว่ามาจาก power ของการศึกษาและระยะเวลาในการติดตามคนไข้ต่อการเกิดโรคไม่เพียงพอ การทำการศึกษาแบบอภิวิเคราะห์นี้ยังบ่งบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าการลดระดับความดันโลหิตและโคเลสเตอรอลซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาควรมีเป้าหมายในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอันดับแรกก่อน จากการศึกษายังพบอีกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแบบเข้มงวดมีผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยมากกว่า 5.5 ปอนด์ (2.75 กิโลกรัม) และเกิดอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรงมากกว่าเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิม การศึกษานี้ยังสนับสนุนคำแนะนำของ American Diabetes Association American Heart Association และ American College of Cardiology ว่าแพทย์ผู้ทำการรักษาควรมีเป้าหมาย HbA1C ต่ำกว่าร้อยละ 7 และการรักษาควรขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้