หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Should Ranitidine and Omeprazole Be Combined for Peptic Ulcer Disease?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กรกฎาคม ปี 2553 -- อ่านแล้ว 17,490 ครั้ง
 
โรคแผลในทางเดินอาหาร (peptic ulcer disease; PUD) เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน เดิมอาจเรียกว่า peptic ulcer หรือโรคกระเพาะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเป็นแผลที่พบในเยื่อบุทางเดินอาหารที่สัมผัสกับน้ำหลั่งจากกระเพาะอาหาร ซึ่งได้แก่ เยื่อบุหลอดอาหารส่วนล่าง กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน และเรียกแผลที่พบในแต่ละตำแหน่งว่า esophageal ulcer, gastric ulcer (GU) และ duodenal ulcer (DU) หมายถึงแผลที่พบบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ตามลำดับ peptic ulcer disease เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่นการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร



ในการวินิจฉัยภาวะ peptic ulcer ผู้ป่วยจะต้องได้รับการส่องกล้อง (upper endoscopy) สาเหตุของการเกิด peptic ulcer disease ได้แก่ การติดเชื้อ Helicobacter pylori (HP) การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยต์ (NSAIDs) หรือ peptic ulcer disease ที่เกิดจากการมีเนื้องอกทำให้มีการสร้างกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่นในภาวะ gastrinomas



สำหรับการรักษา peptic ulcer disease จะต้องทำการรักษาที่สาเหตุของการเกิด เช่น ถ้าสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อ Helicobacter pylori ผู้ป่วยจะได้รับยาในกลุ่ม proton pump inhibitors ร่วมกับยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 2 ชนิด ระยะเวลาในการรักษานาน 10-14 วันขึ้นอยู่กับสูตรยา และการเกิดภาวะดื้อยาของเชื้อ ถ้าสาเหตุสัมพันธ์กับการรับประทานยา NSAIDs ผู้ป่วยจะต้องหยุดยาดังกล่าว และให้ยาในกลุ่ม proton pump inhibitors เพื่อรักษาแผล หากสาเหตุเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกที่ทำให้มีการสร้างกรดที่มากเกินไป จะต้องให้การรักษาด้วย proton pump inhibitors หรือผู้ป่วยบางคนอาจได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก



สำหรับการให้ยาร่วมกันระหว่าง ranitidine และ omeprazole ในการรักษา peptic ulcer disease ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าจะให้ประโยชน์ ซึ่งจากคำแนะนำในปัจจุบันการใช้ยาร่วมกันดังกล่าวไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าการให้ proton pump inhibitors เพียงอย่างเดียวในการรักษา peptic ulcer disease อย่างไรก็ตามการให้ ranitidine ร่วมกับ omeprazole อาจได้ประโยชน์ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่นผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease; GERD) ได้

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้